กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมาแรงในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไตรมาสแรกของปีนี้ยอดส่งออกไปตลาดโลกพุ่ง ชี้ตลาดอาเซียนเติบโตสูงสุด มีส่วนแบ่งตลาดถึง 54.8 % ของการส่งออกทั้งหมด แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายส่งออก พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้น่าดึงดูด เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ สร้างจุดขายยกระดับให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางและอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารแห้ง และอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงวิกฤตนี้ เนื่องจากใช้เวลาปรุงไม่นาน ราคาไม่แพง หาซื้อง่ายและมีอายุการเก็บรักษายาวนาน อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ ซึ่งแนวโน้มความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเร่งผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นางอรมน กล่าวว่า จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีมูลค่าส่งออก 57.8 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 54.8 ของการส่งออกทั้งหมด โดยไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียน มูลค่า 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกไปอาเซียน ตามด้วยเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม สำหรับตลาดส่งออกอันดับ 2 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.2 ตามด้วยสหรัฐฯ ร้อยละ 6.6 ออสเตรเลีย ร้อยละ 5.1 และฝรั่งเศส ร้อยละ 3.1 นอกจากนี้ ในปี 2562 ไทยยังส่งออกสินค้ากลุ่มบะหมี่แปรรูปสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และเกาหลีใต้
อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับนิยมรสชาติอาหารที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ติดอันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูง 15 อันดับแรกของโลก ส่งผลให้การส่งออกไปอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียนมูลค่า 119.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31 จากปี 2561 และในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (2552-2562) ไทยสามารถขยายการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 549 คิดเป็นการเติบโตถึงร้อยละ 55 ต่อปี (ปี 2552 ไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 18.38 ล้านเหรียญสหรัฐ)
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สินค้าของไทยขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย โดยปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ส่งออกจากไทยแล้ว ส่วนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าบางตัว อาทิ กลุ่มพาสต้า บะหมี่แปรรูป และเส้นหมี่แปรรูป
“อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยถือว่ามีศักยภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งมีความโดดเด่นเรื่องรสชาติที่หลากหลาย ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วโลก หากผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีด้วย จะช่วยให้สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และควรพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าดึงดูด ควบคู่ไปกับการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างของสินค้าเพื่อยกระดับให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้” นางอรมน เสริม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
12 พฤษภาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ