กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประชุมทางไกลกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟ พบช่วงวิกฤตโควิด-19 ยอดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปไทยขยายตัว หลังคนหยุดอยู่บ้านมากขึ้น เผยไตรมาสแรกไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปราว 6,000 ตัน มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 14.69% ชี้เป็นโอกาสทองผู้ส่งออกหลังหลายประเทศผลิตลดลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟตลอดห่วงโซ่การผลิต ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามสถานการณ์การค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีนายกสมาคมกาแฟไทย (นางวารี สดประเสริฐ) ที่ปรึกษาสมาคมกาแฟไทย (นายสุขเกษม ขำทวี) และผู้ประกอบการสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟเข้าร่วม พบว่า ในช่วงวิกฤตนี้ทำให้ยอดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปของไทยขยายตัว รวมทั้งยอดส่งออกยังเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านการผลิต เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีการผลิตลดลง จึงถือเป็นโอกาสทองในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของไทย
นางอรมน กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านกาแฟเห็นว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ยอดขายลดลง จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการ เป็นการขายแบบออนไลน์และแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนสินค้าให้อยู่ในรูปแบบกาแฟพร้อมดื่ม ซึ่งสามารถสั่งซื้อและเก็บไว้ได้นานขึ้น รวมถึงปรับผังที่นั่งในร้านให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเปิดบริการหลังผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ ส่วนผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟและผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป ให้ข้อมูลว่าสินค้ากาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) กาแฟคั่วบด กาแฟแคปซูล และอุปกรณ์ชงกาแฟ ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เคยซื้อในปริมาณมาก อาทิ โรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน กลับมียอดขายลดลงเนื่องจากต้องปิดกิจการในช่วงนี้
สำหรับผู้ส่งออกสินค้ากาแฟสำเร็จรูป แจ้งว่าได้รับการติดต่อจากประเทศผู้นำเข้าที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟจากไทย เนื่องจากหลายประเทศผลิตกาแฟสำเร็จรูปลดลง ในขณะที่ไทยสามารถผลิตได้แม้ในช่วงวิกฤต ทำให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟได้มากขึ้น ขณะเดียวกันรสนิยมของผู้บริโภคเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งสนใจบริโภคกาแฟคั่ว ที่มีส่วนผสมของเมล็ดกาแฟจากไทยกับต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบส่งออก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกกาแฟคั่วผสม
นางอรมน เสริมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และชุมพร รวมทั้งผู้ประกอบการกาแฟตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อติดตามความพร้อมการแข่งขันกาแฟไทยในยุคการค้าเสรี และแนะนำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายตลาดส่งออก และหากไทยสามารถรักษาคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟได้อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บ การคั่ว และการแปรรูป จะทำให้กาแฟไทยมีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกกาแฟสำเร็จรูปอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2562 ไทยส่งออกปริมาณ 24,812 ตัน คิดเป็นมูลค่า 92.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สปป.ลาว ร้อยละ 26 เมียนมา ร้อยละ 24 และกัมพูชา ร้อยละ 20 โดยไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูป ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ร้อยละ 0 รวมถึงนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากแหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ที่อัตราภาษีร้อยละ 5 ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ สำหรับไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปปริมาณ 6,606 ตัน เป็นมูลค่า 25.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยไทยยังส่งออกไปตลาดรอง เช่น ฮ่องกง และสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 28 และ 88 ตามลำดับ เป็นต้น
21 พฤษภาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ