กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดตัวโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมในอาเซียน พร้อมขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ ชี้! แม้เจอวิกฤติโควิด-19 ยอดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม 4 เดือนแรก ยังโตต่อเนื่อง ขยายตัวถึง 13%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเปิดตัวโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ซึ่งร่วมกับกรมปศุสัตว์ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดอบรมเทคนิคการทำธุรกิจ การตลาด การเตรียมความพร้อมมาตรฐานส่งออกให้กับเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการโคนมของไทย รวมทั้งพาไปสำรวจตลาดและจับคู่ธุรกิจในจีน และสิงคโปร์ โดยประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยได้รับการพัฒนา และมีกระบวนการผลิตนมที่มีคุณภาพ รวมถึงยังใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อยอดการผลิต นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ยังมีส่วนช่วยขยายการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมได้มากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2562 มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 12.4 มูลค่าการส่งออกรวม 536.1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญ โดยมีมูลค่า 443.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน มูลค่า 28.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน เสริมว่า ไทยมีประเทศคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ จาก 18 ประเทศ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าสินค้านมร้อยละ 21.3-25.5 เกาหลีใต้ เก็บภาษีนมร้อยละ 26.8 โยเกิร์ต ร้อยละ 28.8 และอินเดีย คงภาษีสินค้านมที่ร้อยละ 20-60 เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แต่การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย อาทิ UHT โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-เมษายน) มีมูลค่าการส่งออก 186.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 13 ตลาดส่งออกสำคัญคือ อาเซียน มีมูลค่าส่งออก 159.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดหลัก ได้แก่ กัมพูชา มูลค่า 61.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22 เมียนมา มูลค่า 24.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.23 ฟิลิปปินส์ มูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20 สปป.ลาว 20.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17 และสิงคโปร์ มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17 และตลาดส่งออกสำคัญรองลงมาคือ ฮ่องกง มูลค่าส่งออก 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน มูลค่า 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
2 มิถุนายน 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ