ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กระชับความร่วมมือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด -19 ย้ำ! ความตั้งใจลงนามในปีนี้ เชื่อ RCEP จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยังไม่ปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้าร่วมความตกลง
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 10 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 โดยที่ประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และรัฐมนตรีของคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน
นายสรรเสริญ กล่าวว่า รัฐมนตรี RCEP ทราบดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อการค้า การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตโลก รัฐมนตรี RCEP เห็นตรงกันที่จะยกระดับความร่วมมือและการประสานงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่สภาวะปกติ รวมทั้งผลักดันระบบเศรษฐกิจให้เติบโตทางอย่างมั่นคง ทั่วถึง สมดุล และยั่งยืนจากวิกฤตดังกล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรี RCEP ได้ยืนยันความตั้งใจที่จะลงนามความตกลงในปีนี้ ตามที่ผู้นำได้มอบหมายไว้ในการประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งรัฐมนตรี RCEP ได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองว่าการลงนามความตกลง RCEP จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี การรวมกลุ่มระดับภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น
“อินเดียเป็นสมาชิกสำคัญที่เข้าร่วมเจรจา RCEP ตั้งแต่แรก เมื่อปี 2555 และยังเชื่อว่า การเข้าร่วม RCEP ของอินเดียจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างความน่าสนใจให้กับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยประเทศสมาชิกยังคงเปิดกว้างให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรี RCEP เห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันต่อไป สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้” นายสรรเสริญ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 48.1 ของประชากรโลก โดยข้อมูลในปี 2562 สมาชิก RCEP มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.7 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29.5 ของมูลค่าการค้าโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
25 มิถุนายน 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ