‘จุรินทร์’ มอบผู้ช่วย รมต.พาณิชย์ ประชุมเอเปค ออกแถลงการณ์ร่วมรับมือวิกฤตโควิด-19 ส่งเสริมความร่วมมืออำนวยความสะดวกทางการค้า อีคอมเมิร์ซ เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2020 14:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีการค้าเอเปคออกแถลงการณ์ร่วม รับมือการแพร่ระบาดจากโควิด-19 เน้นความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น อาทิ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สินค้าอาหารและเกษตร ลดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ จัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม สร้างโอกาสการจ้างงานให้ MSMEs สตรี และกลุ่มเปราะบาง เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก และร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย และร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปค และปฏิญญาการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในสินค้าจำเป็นเพื่อรับมือกับผลกระทบทางการค้าที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ซึ่งที่ประชุมเอเปคได้เน้นย้ำว่าการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อรับมือโควิด-19 จะต้องเหมาะสม โปร่งใส และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และต่อห่วงโซ่การผลิตโลก

นอกจากนี้ เอเปคยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการทางการค้าและแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 โดยให้มีการจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะยาว เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม รวมทั้งสนับสนุนอีคอมเมิร์ซ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการค้าดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต และเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ดร.สรรเสริญ เสริมว่า ไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1) สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อรับมือโควิด-19 โดยให้แจ้งการใช้มาตรการต่อ WTO ซึ่งไทยพร้อมร่วมกันกับสมาชิกเอเปคในการสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกต่อการค้า เปิดกว้าง เป็นธรรม มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ 2) ส่งเสริมมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว 3) รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมให้ห่วงโซ่การผลิตมีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 4) มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต MSMEs การส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 5) ให้ความสำคัญกับห่วงโซ่คุณค่าโลก โดยลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งต้นทุนทางการค้าและยกระดับการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และ 6) ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อขยายโอกาสให้ MSMEs รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชน โดยเฉพาะภาคแรงงานให้สามารถก้าวทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง

ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นหลัก (Theme) ของเอเปคในปี 2563 เน้นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมั่งคั่งร่วมกัน การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น การออกแถลงการณ์เอเปคในครั้งนี้ จึงถือเป็นการส่งสัญญาณในระดับนโยบายเพื่อร่วมกันรับมือกับวิกฤติโควิด-19 และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเปคอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยสมาชิกเอเปคเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในปี 2562 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 337,888.75 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70.2 ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปค 171,250.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 69.54 ของการส่งออกรวมของไทย) และนำเข้าจากเอเปค 166,637.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 70.53 ของการนำเข้ารวมของไทย)

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

29 กรกฎาคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ