‘พาณิชย์’ เผย อาเซียนพร้อมลงนามข้อตกลงยานยนต์-วัสดุก่อสร้างในปีนี้ เตรียมจับมือเอกชนเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2020 13:56 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

‘พาณิชย์’ เผยผลสำเร็จเสาเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมลงนามข้อตกลงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างในปีนี้ ได้ข้อตกลงด้านยาแผนโบราณ-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้มีมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน เตรียมเปิดใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 20 ก.ย. นี้ เดินหน้าจับมือเอกชนหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และช่วยธุรกิจ MSMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผ่านระบบทางไกล เพื่อติดตามและเร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตาม AEC Blueprint 2025 โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุนและการลดอุปสรรคทางการค้า และหารือเอกชนถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ถึงแม้ทั่วโลกจะประสบกับปัญหาวิกฤตโควิด-19 แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ได้แก่ สามารถบรรลุข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง และพร้อมลงนามภายในปีนี้ ซึ่งหากข้อตกลงทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับ จะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากเมื่อสินค้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้ว ไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้าอีก โดยในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์ไปยังอาเซียน มูลค่า 5,071.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังอาเซียน มูลค่า 473.17 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ยังได้ทบทวนข้อตกลงยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองของอาเซียน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันสมัย เพื่อใช้เป็นกรอบการเจรจาข้อตกลงยอมรับร่วมในสาขาใหม่ๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ ยังได้บรรลุข้อตกลงกรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกันในอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีมาตรฐานเดียวกันและช่วยสร้างความมั่นใจให้ประเทศอาเซียน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอาเซียน มูลค่า 695.62 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งการใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งจะเริ่มใช้งานจริง ในวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียน (Form D) ได้เอง โดยไม่ต้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ เตรียมขยายการใช้งานระบบ ASEAN Single Window ให้ครอบคลุมเอกสารอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น ใบขนสินค้าอาเซียน (ACDD) และใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งการเริ่มนำแนวปฏิบัติเรื่องการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน (NTM Guidelines) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ให้ทันสมัยและรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการแล้วเสร็จ ในปี 2564

ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่วมรับรองเอกสารดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งเป็นเอกสารระบุตัวชี้วัดความสำเร็จของการรวมตัวด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันต่อเนื่อง จากที่ไทยได้ริเริ่มไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

ดร.สรรเสริญ เสริมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยรับทราบข้อริเริ่มและการดำเนินการของ ASEAN-BAC เกี่ยวกับงานสำคัญที่ผลักดันในปีนี้ เช่น ข้อริเริ่มภายใต้แนวคิด “Digital STARS (Digital Startups Towards ASEAN Resilience and Sustainability)” ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อช่วยผู้ประกอบการ MSMEs ให้ประสบความสำเร็จ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรองรับสังคมดิจิทัลภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนวทางการรับมือวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และการร่วมกับหน่วยงานเฉพาะด้านโควิด-19 ของอาเซียน จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อผู้นำอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน มูลค่า 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 47,749 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 28,498 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 19,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

26 สิงหาคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ