‘กรมเจรจาฯ’ ดันชาไทยใช้เอฟทีเอเจาะตลาดพรีเมี่ยม มั่นใจศักยภาพยังไปได้ไกลแม้ยุคโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2020 13:41 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่และสัมมนารับฟังความคิดเห็นกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย เล็งเห็นศักยภาพเจาะตลาดอาเซียน จีน และยุโรป ขายสินค้าตอบโจทย์ความต้องการตลาดเฉพาะ หรือ ‘นิชมาร์เก็ต’ เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย เร่งใช้เอฟทีเอเป็นสะพานให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังลงพื้นที่สำรวจศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน และการสัมมนา “โอกาสของชาไทยในยุคการค้าเสรี” ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า อุตสาหกรรมชาไทยกำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก แต่สำหรับประเทศไทย มีอัตราการบริโภคชาไม่สูงมากนัก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ไทยจึงควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาดื่มชาเพิ่มขึ้น ใช้จุดขายเรื่องสินค้าอินทรีย์และสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามรสนิยมผู้บริโภคในลักษณะ DIY รวมถึงเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้ตลาดชาในไทยมีโอกาสการเติบโตมากขึ้น

นางอรมน กล่าวว่า ไทยสามารถปลูกชาในระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไร่ชาภาคเหนือมีจำนวนมาก ที่ผ่านมา ผลิตเพื่อส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ รวมถึงชาสำเร็จรูปส่งออกไปยังไต้หวัน และชาราคาเกรดทั่วไปส่งขายให้กับร้านชาในประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมชาไทยจึงเป็นลักษณะรับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างแบรนด์สินค้าชาของคนไทยขึ้นมาและมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น

นางอรมน เสริมว่า สินค้าชาไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าได้ สำหรับสินค้าชาเขียว ไทยสามารถส่งออกโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี สำหรับสินค้าชาดำ สามารถส่งออกโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี และสำหรับผลิตภัณฑ์ชา สามารถส่งออกโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับแนวทางจัดตั้งกองทุนเอฟทีเออีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2562) ไทยส่งออกชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และชาสำเร็จรูป เฉลี่ย 9.1 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐฯ (18%)

สำหรับ ในปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน มูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย (38%) เนเธอร์แลนด์ (12%) และมาเลเซีย (9%) ส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย (40%) สหรัฐอเมริกา (18%) และกัมพูชา (14%) และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน มูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐอเมริกา (18%) และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน มูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.92%) ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน มูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 45.54%) และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน มูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77%)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

14 กันยายน 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ