‘พาณิชย์’ ระดมกูรูตลาดจีนเต็มเวทีเสวนาติดอาวุธผู้ส่งออกไทย เน้นการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2020 13:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดเสวนาติวเข้มผู้ประกอบการไทยบุกตลาดจีน เน้นการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน ขนกูรูตลาดจีนมาแนะนำการค้าขายกับจีนหลังโควิด-19 กลยุทธ์การบุกตลาดออนไลน์ ปลื้ม! ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเพียบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสัมมนา "1 ทศวรรษ เอฟทีเอ อาเซียน ? จีน ? ก้าวต่อไปของเอกชนไทยในแดนมังกร" ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ว่า ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจส่งออกที่มีศักยภาพของไทยในหลากหลายสาขากว่า 200 ราย อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ สุขภาพและความงาม ของใช้ในบ้านและของขวัญ และชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่จะเดินทางไปร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China-International Import Expo: CIIE) ครั้งที่ 3 ณ นครเซี่ยงไฮ้ และงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 17 ณ นครหนานหนิง ในเดือนพฤศจิกายนนี้

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงโอกาสในการขยายการค้ากับจีน จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดจีนมาร่วมเสวนาในหลายประเด็น อาทิ ภาพรวมเศรษฐกิจจีนและความเปลี่ยนแปลงภายหลังโควิด-19 การเปิดตลาดและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ? จีน กลยุทธ์การบุกตลาดออนไลน์ในจีน และกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกไปจีน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน

?ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยแล้วกว่า 95% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สต๊าร์ชมันสำปะหลัง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และน้ำยางธรรมชาติและสังเคราะห์ เป็นต้น ส่วนไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากจีนแล้ว 89% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน นับตั้งแต่ก่อนมี FTA ในปี 2547 จนถึงปี 2562 ขยายตัวถึง 420% ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ทุเรียน ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์เอสยูวี และสตาร์ชมันสำปะหลัง? นางอรมน เสริม

ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,440 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,169.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีน 50,270.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 51,723.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.26% โดยไทยส่งออกไปจีน 19,625.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน 32,098.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างอาเซียน ? จีน มีมูลค่า 641,470 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.1% จากปี 2561 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน เป็นครั้งแรกในปี 2563

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

29 กันยายน 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ