พาณิชย์ร่วมรัฐมนตรีเอเปครับรองแถลงการณ์ร่วม ในรอบ 2 ปีปรับทิศทางการทำงานรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19ส่งเสริมการไหลเวียนสินค้า บริการ และบุคลากรที่จำเป็นหนุนระบบการค้าพหุภาคีพร้อมร่วมมือยกระดับการทำงานของ WTO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม
ดร.สรรเสริญ สมะลาภาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งที่ 31 ผ่านระบบทางไกล ภายใต้แนวคิด ?เน้นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมั่งคั่งร่วมกัน การพัฒนาบริบทด้านการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการขับเคลื่อนความยั่งยืนเชิงนวัตกรรม?ซึ่งเอเปคได้ออกแถลงการร่วมในเรื่องการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี โดยสนับสนุนการปรับปรุงบทบาทและการดำเนินงานของWTO เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของระบบการค้าพหุภาคีการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี 2563 ของเอเปคการจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ที่จะสิ้นสุดวาระในปี 2563 และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
โดยในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก และรัฐมนตรีเอเปคได้รับรองรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ประจำปี 2563 เพื่อมอบหมายให้เขตเศรษฐกิจเร่งสานต่อการดำเนินการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้สำเร็จตามเป้าหมายโบกอร์ต่อไป
ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1. เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี ให้มีเสถียรภาพ ลดการหยุดชะงักทางการค้า และสนับสนุนการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก อาทิ การอุดหนุนประมง และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (The Twelfth WTO Ministerial Conference : MC12) 2. สนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ ซึ่งแสดงถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของเขตเศรษฐกิจเอเปค 3. ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยพร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือข้อริเริ่มทางการค้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกเอเปคจนนำไปสู่การจัดทำความตกลง (FTAAP) 4. สนับสนุนการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในภูมิภาคเอเปคโดยจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO และยินดีให้ความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปคในการกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
?ดังนั้น การประกาศแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณในระดับนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคและเพื่อรับมือกับผลกระทบในยุคก่อนและหลังโควิด-19 รวมทั้งสะท้อนการดำเนินงานที่สอดรับกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ของเอเปค ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมความร่วมมือเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงพลังงานตลอดจนการมีส่วนร่วมขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน? ดร.สรรเสริญเสริม
ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจซึ่งสมาชิกเอเปคเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ในปี 2562 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 337,888.75 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 70.2% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก171,250.83ล้านเหรียญสหรัฐ (69.54%) และการนำเข้า166,637.91ล้านเหรียญสหรัฐ (70.53%)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
22 พฤศจิกายน 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ