กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล หารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าการลงทุน ย้ำใช้ระบบการค้าแบบเปิด หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ชี้!ช่วยเศรษฐกิจไทยและอียูฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 เล็งหารือฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู อย่างใกล้ชิด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล กับนายปีเตอร์ เบิร์ซ หัวหน้าฝ่ายเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ อียูชื่นชมไทยในการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเห็นว่าการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างสมดุลและคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของระบบการค้าแบบเปิด และการหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ที่จะมีส่วนช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและอียูหลังวิกฤตโควิด-19
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งให้อียูทราบว่า ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวน ปรับปรุง และยกเลิกกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย มีความซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ และที่ผ่านมาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารโลกจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ของไทย ในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 21 จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 27 ในปี 2562 ขณะที่อียูสนใจสอบถามเรื่องการลงนามความตกลง RCEP และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรหารือพิจารณาความพร้อมและเหมาะสมที่จะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 อย่างใกล้ชิดต่อไป
นางอรมน เสริมว่า ฝ่ายไทยได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องเบร็กซิท (Brexit) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานน้ำมันรำข้าวของอียู นโยบายของอียูในการคัดกรองการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ นโยบาย Green Deal เพื่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู ขณะที่อียูสนใจเรื่องการปรับปรุงทบทวนธุรกิจที่จะให้การอนุญาตตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของต่างด้าว นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5 G
ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 5 ของไทย ในปี 2562 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 38,227.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 7.92 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.86 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2563 การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 27,341.42 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 14,576.17 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 12,765.25 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
10 ธันวาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ