‘กรมเจรจาฯ’ ชี้ เทรนด์บริโภคสินค้าโปรตีนจากพืชมาแรง ส่งออกโตกว่า 100%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2020 15:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย เทรนด์การบริโภคสินค้าโปรตีนกำลังมา ดันส่งออกขยายตัว 104% พบไทยส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอพุ่ง ทั้งฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ย้ำ! เอฟทีเอช่วยเพิ่มโอกาสส่งออก ฝากผู้ประกอบการเกาะติดพฤติกรรมการบริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพ และให้ความสำคัญกับโภชนาการทางอาหารส่งผลให้สินค้าอาหารกลุ่ม ?โปรตีนจากพืช? (plant-based products) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืช มีมูลค่าสูงกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค. ? ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช อาทิ โปรตีนเกษตร อาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น และเต้าหู้ สู่ตลาดโลกรวม 2.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 104% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง มูลค่า 1.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 48.1% อาเซียน มูลค่า 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 19.1% จีนไทเป มูลค่า 0.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 17.1% และจีน มูลค่า 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 8.2%

แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชของไทยยังไม่สูงนัก แต่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น แม้ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วย อาทิ ฮ่องกง ขยายตัว 5,956% ญี่ปุ่น ขยายตัว 2,375% จีน ขยายตัว 868% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 666% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 646% สินค้าส่งออกสำคัญ คือ โปรตีนเกษตรและอาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น มูลค่า 2.28 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 96% ของการส่งออกโปรตีนจากพืชทั้งหมด ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 117%

นางอรมน กล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศ เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและขยายการส่งออกสินค้า โดยปัจจุบัน 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว และอีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ยกเว้นภาษีนำทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเต้าหู้ เก็บภาษี 5% และ ญี่ปุ่น ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่ไม่ผสมน้ำตาลเหลือศูนย์ แต่ยังคงเก็บภาษีสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล 16.8-21%

?ผู้ประกอบการไทยและเกษตรกรไทยควรติดตามและปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชให้หลากหลาย รูปลักษณ์หรือรสชาติไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการที่ให้โปรตีนและสารอาหารจำเป็นสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ปลอดคลอเรสเตอรอล รวมทั้งยังเป็นช่องทางใหม่สำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชที่ให้โปรตีนสูงประเภทถั่ว หรือเห็ด สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปโปรตีนจากพืชให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยจีนและอินเดียเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมาก รวมทั้งมีความนิยมรับประทานอาหารเจและมังสวิรัติ? นางอรมน เสริม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 ธันวาคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ