กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้! ยูเค-อียู สรุปความตกลงทางการค้าได้ทันเวลา คลายความกังวลของภาคธุรกิจและเพิ่มความแน่นอนของทิศทางการค้า เผย ยูเคตั้งเป้าเป็นประเทศการค้า เล็งทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ด้านไทยเตรียมพร้อม คุยจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรกับยูเคแล้ว ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับรัฐมนตรีสองฝ่าย ปูทางทำเอฟทีเอ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถสรุปความตกลงทางการค้ากันได้ ก่อนยูเคจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะทำให้ยูเคต้องออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวของอียู แลกกับการได้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในเรื่องสำคัญคืนมา เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าและคน สิทธิในการทำประมงในน่านน้ำ การไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรมของยุโรป เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข่าวดีของภาคธุรกิจ ที่จะคลายความกังวลและเพิ่มความแน่นอนของทิศทางและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยูเคและอียู
นางอรมน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลในเบื้องต้น ทราบว่าความตกลงทางการค้าฉบับนี้จะมีระดับการเปิดตลาดและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันที่มากกว่าความตกลงที่อียูมีกับประเทศอื่น โดยจะครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายแข่งขัน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในส่วนของการค้าสินค้า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่เก็บภาษีศุลกากรหรือกำหนดโควตาสินค้าระหว่างกัน มีกฎระเบียบว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันที่ใกล้ชิด รวมทั้งมีการรับรองและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานเออีโอ (Authorized Economic Operator: AEO) เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและความมั่นคง
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดตลาดเพิ่มเติม อาทิ สาขาบริการโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และการศึกษา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความมั่นคง และการขนส่ง ทั้งนี้ ในประเด็นที่เคยติดขัด เช่น ประมง ให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีครึ่ง เรือประมงของอียูยังคงจับสัตว์น้ำได้ในน่านน้ำของยูเคได้ แต่ในปริมาณที่ลดลงจากเดิม ส่วนเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม มีกลไกให้สามารถเรียกเก็บภาษีตอบโต้ได้ หากอีกฝ่ายให้การอุดหนุนการผลิตที่กระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในขั้นต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินกระบวนการภายในเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ได้ต่อเนื่องหลังจากเบร็กซิท
ทั้งนี้ หลังจากยูเคออกจากอียูโดยสมบูรณ์ ยูเคจะสามารถกำหนดนโยบายการค้าของตัวเองได้ และได้ตั้งเป้าจะเป็นประเทศการค้า (trading nation) โดยมุ่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างยูเคกับโลก โดยปัจจุบันยูเคสามารถสรุปผลการจัดทำเอฟทีเอกับหลายประเทศได้แล้ว อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น สำหรับนโยบายการค้ากับประเทศที่ยูเคยังไม่มีเอฟทีเอด้วย ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่จะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้ากว่า 48% ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที ซึ่งสามารถตรวจสอบอัตราภาษีศุลกากรที่ยูเคจะเรียกเก็บได้ที่ https://www.check-future-uk-trade-tariffs.service.gov.uk/tariff
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมพร้อมของฝ่ายไทยด้านการค้ากับยูเค ทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาจัดสรรโควตาในสินค้าเกษตร ที่เคยมีโควตาสมัยยูเคเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เช่น ไก่หมักเกลือ และเนื้อไก่ปรุงสุกและแปรรูป เป็นต้น โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำความร่วมมือในสาขา/ธุรกิจ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีศักยภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นเวทีหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับยูเคมีมูลค่ารวม 6,264.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.30% ของการค้าทั้งหมดของไทย สำหรับเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 การค้าไทยและยูเคมีมูลค่า 4,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 2,828.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1,643.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากยูเค เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
29 ธันวาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ