กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ปี 2563 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปตลาดโลกขยายตัวดีส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอโตถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ชี้! แป้งมันสำปะหลังแปรรูปไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก แนะตลาดจีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลียมาแรง หนุนเจาะตลาดคู่เอฟทีเอขยายส่งออกเพิ่ม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย พบว่า การส่งออกไปตลาดโลกขยายตัวได้ดีแม้เผชิญวิกฤติโควิด-19 โดยในปี 2563 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสู่ตลาดโลกรวม 2,676 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% จากปี 2562 โดยเฉพาะส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง มีมูลค่าสูงถึง 2,314 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 86% ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด ซึ่งขยายตัวถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับตลาดสำคัญที่การส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน มูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 18%) เกาหลีใต้ มูลค่า 76 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 7%) ออสเตรเลีย มูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 11%) และนิวซีแลนด์ มูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 3%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (สัดส่วน 44%) เด๊กตรินและโมดิฟายด์สตาร์ช (สัดส่วน 28%) และมันสำปะหลังอัดเม็ด/มันเส้น (สัดส่วน 26%)
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จนทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับต้นของโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 14 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง เหลือเพียง4 ประเทศ คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังบางส่วน
แต่ยังเก็บภาษีการนำเข้าบางรายการ เช่น ญี่ปุ่นเก็บภาษีแป้งมันสำปะหลังที่ไม่ได้ใช้สำหรับอาหารสัตว์ สตาร์ชจากมันสำปะหลัง มันสำปะหลังอัดเม็ดที่ภาษี 2.7-25% อินเดีย เก็บภาษีแป้งมันสำปะหลัง สาคูที่ทำจากมันสำปะหลัง 30% เกาหลีใต้ เก็บภาษีสาคูที่ทำจากมันสำปะหลัง 5% รวมทั้งใช้โควตาภาษีกับมันสำปะหลังเส้นและแป้งมันสำปะหลัง และเปรู เก็บภาษีเด๊กตรินและโมดิไฟด์สตาร์ชอื่นๆ 6% นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง RCEP ไทยยังสามารถผลักดันให้เกาหลีใต้ลดภาษีเพิ่มเติมในรายการแป้งมันสำปะหลังที่ทยอยลดภาษี 0.5% ต่อปี
ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2563 พบว่าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเป็นที่ต้องการของประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น จีน ต้องการนำเข้ามันสำปะหลังอัดเม็ด/มันเส้น และแป้งมันสำปะหลังในสัดส่วนที่สูง อาเซียน ต้องการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังและเด๊กตรินและโมดิฟายด์สตาร์ชในสัดส่วนที่สูง ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดียนำเข้าเด๊กตรินและและโมดิไฟด์สตาร์ชในสัดส่วนถึง 67-99% และนิวซีแลนด์นำเข้ากากเหลือจากการผลิตสตาร์ชสูงถึง 64%
?ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นทั้งพืชอาหาร วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม และยังเป็นพืชที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังแปรรูปซึ่งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการสูง ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหารคนและอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสทองของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นเจาะตลาดประทศคู่เอฟทีเอที่ปลดล็อคภาษีส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว และควรมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานสินค้า เช่น ปรับเปลี่ยนกระบวนการแปรรูป การเก็บรักษา ตลอดจนความสะอาดในการขนส่งให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืช เป็นต้น? นางอรมน กล่าวทิ้งท้าย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
2 กุมภาพันธ์ 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ