ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจของอาเซียน นัดประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 39 ผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ทบทวนแผนงาน AEC Blueprint 2025 หารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ติดตามความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์ 4IR ประเด็นด้านเศรษฐกิจของบรูไนฯ และการประเมินคู่ค้านอกภูมิภาคที่อาจเป็นประเทศคู่เจรจาในอนาคต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) จะเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 39 ร่วมกับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน ผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะหารือการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้ อาเซียนมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025(AEC Blueprint 2025) มาได้ครึ่งทางแล้ว นับตั้งแต่การเข้าสู่ AEC ในปี 2558 จึงต้องทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาถึงความคืบหน้าและประสบความสำเร็จตามแผนงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลจากการประเมินจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดกลยุทธ์มาใช้ประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 และ Blueprint ฉบับต่อไป นอกจากนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาเซียนจะต้องเร่งดำเนินการตามแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measure)
นอกจากนั้น ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนฯ จะเสนอให้อาเซียนดำเนินการสำเร็จภายในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน การจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IRที่ครอบคลุมการดำเนินงานของทั้งสามเสาอาเซียน และการประเมินคู่ค้าที่มีศักยภาพที่อาจเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนในอนาคต ก่อนที่จะนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 2 มีนาคมนี้
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีตลาดสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
18 กุมภาพันธ์ 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ