‘กรมเจรจาฯ’ เปิดเวทีระดมความเห็นรูปแบบการสะสมกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อใช้กำหนดท่าทีเจรจาเอฟทีเอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2021 14:03 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวที กางข้อมูลประโยชน์และผลกระทบของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบต่างๆ พร้อมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดมความเห็น ระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคมนี้ ก่อนใช้พิจารณากำหนดท่าทีไทยในการเจรจาปรับปรุงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่แล้ว และที่มีแผนจะจัดทำในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จัดเวทีระดมสมอง เปิดข้อมูลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบต่างๆ ระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดท่าทีของไทยในการเจรจาเพื่อปรับปรุงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่แล้ว 13 ฉบับ และที่มีแผนจะจัดทำในอนาคตกับสหภาพยุโรป กลุ่มสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และตุรกี ผู้สนใจสามารถรับชมและแสดงความเห็นผ่านทาง Facebook ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ประเทศที่เจรจาจัดทำเอฟทีเอร่วมกันจะต้องตกลงในรายละเอียดและรูปแบบของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการผลิตสินค้าในโลกเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการผลิตมีความซับซ้อนขึ้น มีการเชื่อมโยงในห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันมากขึ้น ผู้ผลิตสินค้ามีทางเลือกในการนำวัตถุดิบจากหลากหลายแหล่งมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาและคุณภาพของวัตถุดิบ แหล่งวัตถุดิบ ความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งและได้รับสินค้า เป็นต้น ส่งผลให้ในการเจรจาจัดทำเอฟทีเอรุ่นใหม่ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า มีการกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่หลากหลายมากขึ้น แตกต่างกันไปตามชนิด และประเภทของสินค้า ที่คู่เจรจาเอฟทีเอตกลงกันไว้ เช่น บางสินค้าใช้เกณฑ์สัดส่วนการสะสมมูลค่าของวัตถุดิบ บางสินค้าใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร บางสินค้าใช้เกณฑ์มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศภาคีเอฟทีเอ และบางกรณีเปิดโอกาสให้นำมูลค่าของวัตถุดิบ หรือการผลิตที่เกิดขึ้นนอกภาคีเอฟทีเอมาประกอบการสะสมมูลค่าได้ด้วย เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบต่างๆ ต่อการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอของไทย และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มสินค้าต่างๆ มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบในผลการศึกษาต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

2 มีนาคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ