ประเดิมปี 64 มูลค่าการค้าไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA โตต่อเนื่อง ดันส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัว 19% และสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 4, 2021 13:09 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย สถิติการค้าของไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA เดือนมกราคม 2564 มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% พบส่งออกสินค้าเกษตร มาแรง พุ่ง! 19% ตลาดอาเซียน จีน และฮ่องกง เติบโตดี ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม โต 5% ชี้! การส่งออกสินค้าไทยยังมีโอกาสขยายตัว ตามสัญญาณฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วงเดือนมกราคม 2564 พบว่า การค้าของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) 18 ประเทศ มีมูลค่า 25,571.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.31% จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 64.55% ของการค้าไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 12,162.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.04%) คิดเป็นสัดส่วน 61.72% ของการส่งออกทั้งหมด และเป็นการนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่ารวม 13,409.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2.66%) คิดเป็นสัดส่วน 67.35% ของการนำเข้าทั้งหมด

นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทยมีการเติบโตในหลายรายการ อาทิ สินค้าเกษตร (กสิกรรม ปศุสัตว์และประมง) โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 1,288 ล้านเหรียญสหรัฐ (+19.4%) คิดเป็นสัดส่วน 72.16% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการขยายตัว ได้แก่ อาเซียน (+13%) อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และเมียนมา จีน (+40%) ฮ่องกง (+24%) เกาหลีใต้ (+2%) อินเดีย (+63%) และเปรู (+768%)

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และวงจรไฟฟ้า โดยมีการส่งออก มูลค่า 9,446.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+5.14%) คิดเป็นสัดส่วน 59.31% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม (+16%) มาเลเซีย (+41%) ลาว (+4%) เมียนมา (+2%) จีน (+3%) ญี่ปุ่น (+6%) ฮ่องกง (+23%) เกาหลีใต้ (+23%) ออสเตรเลีย (+35%) นิวซีแลนด์ (+50%) และเปรู (+19%)

สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย แม้การส่งออกจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีมูลค่า 829.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-5.57%) แต่การส่งออกในหลายตลาดคู่เอฟทีเอยังคงสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะอาเซียน (+1.4%) อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว และบรูไน ซึ่งจากเดิมในปี 2563 การส่งออกมีการหดตัวมาโดยตลอด นอกจากนี้ ฮ่องกง และชิลี มีการนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปจากไทยเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม

นางอรมน เพิ่มเติมว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2563 จากปัจจัยบวก อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง และการเริ่มกระจายการฉีดวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต พบว่า มีโอกาสสูงที่การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความพร้อมของไทยที่สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัวและปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้รับการลดและยกเว้นภาษีนำเข้ากับกลุ่มประเทศคู่เอฟทีเอ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

3 มีนาคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ