ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 27 ผนึกกำลังเร่งทำตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมเห็นชอบแผนเศรษฐกิจของอาเซียน เน้นปรับปรุงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ฟื้นฟูท่องเที่ยว ทำแผนอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริม MSMEs เร่งทบทวนความตกลงการค้าสินค้ากับอินเดีย และเดินหน้าจัดทำกรอบความตกลงการค้าเสรีกับอียู พร้อมผสานความร่วมมือภาคเอกชน ด้านไทยขอสมาชิกช่วยผลักดัน RCEP ให้มีผลบังคับใช้มกราคมปีหน้า
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา
ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนดำเนินการสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Priority Economic Deliverable: PED) ตามข้อเสนอของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ภายใต้แนวคิด?We share, We prepare, We prosper? ซึ่งมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟู อาทิ การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียนการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (2) ด้านการเป็นดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564 - 2568 และ (3) ด้านความยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และ MSMEs ของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของอาเซียนภายหลังโควิด-19 เน้นการลดอุปสรรคการค้า เชื่อมโยงสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะตกลงขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นในช่วงโควิด-19 การเร่งเตรียมความพร้อมด้านการค้าดิจิทัล และหาทางให้อาเซียนขยายความสำคัญของการอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)
ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหาแนวทางสำหรับความตกลงต่างๆ ที่มีการลงนามร่วมกันแล้ว ให้เร่งการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของไทย ได้ย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากภาคเอกชนของอาเซียนและไทยจะต้องได้รับผลประโยชน์จากความตกลงฯ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศนอกภูมิภาคด้วย
สำหรับความสัมพันธ์กับนอกภูมิภาค ที่ประชุมได้เร่งหารือเรื่องการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย และปัญหาของกฎศุลกากรด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ของอินเดีย หรือ CAROTAR 2020 ที่มีต่อการค้ากับอาเซียน ซึ่งได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะเป็นอุปสรรคต่อการค้าสองฝ่ายอย่างมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งหารือจัดทำความเห็นต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป และเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยฝ่ายไทยได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศสมาชิก RCEP ควรจะต้องกำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เพื่อที่ทุกประเทศจะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายในที่ชัดเจน และได้แจ้งว่ารัฐสภาไทยได้ให้การรับรองแล้ว ซึ่งถือเป็นประเทศแรกและอยู่ระหว่างการเตรียมการภายในเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในกำหนด
ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับภาคธุรกิจของอาเซียน (ASEAN-BAC) และรับทราบประเด็นที่ต้องการให้ผลักดันในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ MSMEs และสตาร์ทอัพ แรงงาน มาตรฐานและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงเอกสารทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างกัน ซึ่งที่ประชุม ได้ย้ำความสำคัญของภาคเอกชน และความร่วมมือกับคณะกรรมการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
4 มีนาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ