กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย ภาคเอกชนร่วมถก จัดทำ ?รูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า? สะท้อนกระบวนการผลิตของไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ พร้อมนำความเห็นไปประกอบการศึกษาประโยชน์และผลกระทบ ก่อนกำหนดท่าทีไทยในการเจรจาปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่และที่มีแผนจัดทำในอนาคต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญผู้ประกอบการ และภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรม ระดมความเห็นเรื่อง ?การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ? โดยมีบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี ในฐานะหน่วยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งกลุ่มการหารือออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ตามประเภทของสินค้าและสาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก (3) เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์(4) ยานยนต์และชิ้นส่วน (5) ไม้ กระดาษ การก่อสร้าง ซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ (6) แร่เหล็กและอลูมิเนียม (7) เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ และ (8) ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์
นางอรมน เพิ่มเติมว่า จากการหารือ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความรู้ในเรื่องกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีความสำคัญอย่างมากกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากช่วยให้ทราบถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นว่าควรเลือกใช้วัตถุดิบหรือการผลิตอย่างไร ที่จะสามารถนำมูลค่าของสินค้ามาสะสม จึงจะผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบประเภทสินแร่เหล็ก ฝ้ายธรรมชาติ และทองคำ เป็นต้น มาใช้ในกระบวนการผลิตในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
?ในอนาคตหากการผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าง่ายขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น และใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอขยายตลาดไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีหลายรูปแบบ อาทิ กำหนดเงื่อนไขตามมูลค่าการผลิต พิจารณาจากมูลค่าการผลิตจริง และนำวัตถุดิบนอกเอฟทีเอมาสะสมได้ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของไทย ดังนั้น กรมฯ จึงจะนำความเห็นที่ได้ ไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางการเจรจาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอต่าง ๆ ต่อไป รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยและความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก ตลอดจนโครงสร้างการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีของไทยในการเตรียมเจรจาจัดทำเอฟทีเอใหม่ หรือปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน? นางอรมน เสริม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
17 มีนาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ