‘กรมเจรจาฯ’ ลุยเชียงใหม่ ดันกาแฟ-กล้วยหอม ใช้ประโยชน์ FTA เพิ่มแต้มต่อส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 5, 2021 13:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนลงพื้นที่เชียงใหม่ คุยผู้ประกอบการกาแฟ-กล้วยหอม พบสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานแข่งขันได้ พร้อมดันใช้ประโยชน์ FTA แต้มต่อทางการค้า ขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ ชี้! ช่วยเกษตรกรขายได้ราคาดีมีรายได้เพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ประกอบการ ?Acaba Coffee? อำเภอแม่ออน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมเมืองแกน อำเภอแม่แตง ระหว่างวันที่ 2 ? 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้หารือถึงโอกาสส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรไทยในตลาดคู่เอฟทีเอของไทย ที่ได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ของไทยแล้ว

นางอรมน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการสินค้ากาแฟและกล้วยหอมให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งจะสามารถขายได้ราคาดีและมีรายได้อย่างสม่ำเสมอให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันยอมรับว่าการส่งออกไปต่างประเทศก็ต้องมีมาตรฐานที่ตลาดโลกยอมรับ อีกทั้งเป็นอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ดังนั้น กรมฯ จึงเห็นว่าสินค้าทั้ง 2 รายการ มีศักยภาพสามารถส่งออกได้ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อการส่งออกไปยัง 18 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ซึ่งปัจจุบันมี 14 ประเทศ ที่ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากับเมล็ดกาแฟจากไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ชิลี ฮ่องกง และอาเซียน ยกเว้นเมียนมาที่ยังเก็บภาษีนำเข้ากาแฟเมล็ดดิบบางชนิดจากไทย 5% สำหรับสินค้ากล้วยสด คู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชีลี และเปรู ได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากล้วยสดที่ส่งออกจากไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียและเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีอัตรา 30% สำหรับญี่ปุ่นกำหนดมาตรการโควตาภาษี โดยหากนำเข้าไม่เกิน 8,000 ตัน จะไม่เสียภาษีนำเข้า

สำหรับ ?Acaba Coffee? เป็นร้านกาแฟในเครือบริษัท ภูเครือ จำกัด โดยปลูกต้นกาแฟและเก็บเมล็ดผ่านกระบวนการตาก หมัก คั่ว และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Acaba มีผลิตภัณฑ์ทั้งกาแฟคั่วบด และสารกาแฟดิบ ปลูกกาแฟในพื้นที่กว่า 100 ไร่ มีผลผลิต 30-40 ตันต่อปี ปลูกผสมผสานกับต้นชาอัสสัม ทำให้ได้กาแฟที่มีรสชาติและกลิ่นพิเศษต่างจากที่อื่น โดยในปี 2562 ได้รับคำสั่งผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ กรีซ ฝรั่งเศส และจีนไทเป ปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายออนไลน์บนแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซช้อปปี้และลาซาด้า นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการกาแฟครบวงจร และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องกาแฟอีกด้วย

ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมเมืองแกน ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเข้มแข็ง มีสมาชิกจำนวน 70 ราย มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมกว่า 320 ไร่ ผลผลิตรวม 102,400 ตันต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 4,800 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแปลงของเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับมาตรฐาน GAP แล้ว และส่งจำหน่ายให้บริษัท พีแอนด์เอฟเทคโน จำกัด ปริมาณ 6 ตันต่อสัปดาห์ สำหรับส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยังจำหน่ายตลาดภายในประเทศ ปริมาณ 5 ตัน

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ และเมล็ดกาแฟคั่ว มูลค่า 3.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณส่งออกไม่มากนักเนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศสูง ขณะที่ส่งออกกาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 99.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปที่สำคัญ เช่น สปป.ลาว มูลค่า 24.33 ล้านเหรียญสหรัฐ กัมพูชา มูลค่า 22.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา มูลค่า 21.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 10.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหราชอาณาจักร มูลค่า 8.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกกล้วยหอม 3,464 ตัน มูลค่า 3.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น มูลค่า 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (65.74% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) จีน มูลค่า 1.09 ล้านเหรียญสหรัฐ (32.44% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) และกัมพูชา มูลค่า 21,679 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

3 เมษายน 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ