กรมเจรจาฯ ชี้ช่องขยายตลาดส่งออกสินค้ารองเท้าแตะด้วยเอฟทีเอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2021 13:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองเท้าแตะ เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจับตามมอง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกรองเท้าแตะของไทยไปตลาดต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรองเท้าแตะกลุ่มที่ทำจากยางหรือพลาสติก ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 8 ของโลก (รองจาก จีน สหภาพยุโรป เวียดนาม ตุรกี สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย บราซิล) ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรองเท้าแตะของไทย ได้แก่ คุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับความได้เปรียบด้านต้นทุนเนื่องจากสามารถหาวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เม็ดพลาสติก และยางพาราแปรรูป ได้ภายในประเทศ และมีแรงงานคุณภาพที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ ไทยยังมีแต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีกับ 18 ประเทศคู่ค้า (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู) ซึ่งช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะที่ส่งออกจากไทยทำให้สินค้าของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยปัจจุบัน 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทยทุกรายการ ทั้งรองเท้าแตะที่ทำจากยางหรือพลาสติก รองเท้าแตะจากหนัง และรองเท้าแตะจากวัสดุสิ่งทอ (พิกัดศัลกากร 640299900001 64041900001 64042000001) แล้ว เหลือเพียง เปรู และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทย โดยอินเดีย ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 10 เหลือเก็บภาษีที่ร้อยละ 5 และเปรูเก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 11

นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย พบว่าประเทศคู่เอฟทีเอเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้ารองเท้าแตะของไทย โดยไทยส่งออกสินค้ารองเท้าแตะไปยังตลาดคู่เอฟทีเอรวมกันปีละมากกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด (ประมาณ ร้อยละ 64 ของการส่งออกทั้งหมด) และการส่งออกขยายตัว อย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2560 - 2562 ไทยส่งออกรองเท้าแตะไปประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่ารวม 49 ล้านเหรียญสหรัฐ 59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี สำหรับปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว และ ทำให้การส่งออกสินค้ารองเท้าแตะของไทยชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยในปี 2563 ไทยส่งออกรองเท้าแตะไปตลาดคู่เอฟทีเอรวม 59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ 11 จากปี 2562 สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่ารวม 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอหลายประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย เช่น ลาว (ขยายตัว ร้อยละ 6) ฟิลิปปินส์ (ขยายตัว ร้อยละ100) เวียดนาม (ขยายตัว ร้อยละ 25) อินโดนีเซีย (ขยายตัว ร้อยละ 139) มาเลเซีย (ขยายตัว ร้อยละ 66) นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดอินเดียและญี่ปุ่นก็ขยายตัวเช่นกัน (ที่ร้อยละ 7 และร้อยละ 26 ตามลำดับ) ซึ่งสะท้อนแนวโน้มตลาดในปี 2564 ที่เริ่มฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก

นางอรมนเสริมว่า ในระยะยาวคาดการณ์ว่าตลาดรองเท้าแตะมีแนวโน้มเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันนอกเหนือจากการซื้อรองเท้าแตะเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานทั่วไปแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นได้อีกด้วย จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดส่งออกได้อีก โดยเฉพาะเจาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วยและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยออกแบบรองเท้าให้ใส่สบายส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความหลากหลายตามพฤติกรรมและสมัยนิยมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้รองเท้าแตะของไทยครองใจผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น กลุ่มเด็กอาจมีความต้องการสีสันลวดลายที่สดใส กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงวัยต้องการรองเท้านุ่มสบายเพื่อดูแลสุขภาพเท้าและสรีระ กลุ่มวัยรุ่นต้องการรองเท้าแตะประเภทแฟชั่นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรองเท้าแตะบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น

ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้ารองเท้าแตะสู่ตลาดโลกรวม 87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20 จากปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่อาเซียน (สัดส่วนร้อยละ 64.5 ของการส่งออกทั้งหมด มีเมียนมา กัมพูชา และลาวเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน) ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วนร้อยละ 8.4 ของการส่งออกทั้งหมด) ซาอุดีอาระเบีย (สัดส่วนร้อยละ 4.1 ของการส่งออกทั้งหมด) ลิเบีย (สัดส่วนร้อยละ 2.7 ของการส่งออกทั้งหมด) และอินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 1.6 ของการส่งออกทั้งหมด) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ รองเท้าแตะที่ทำจากยางหรือพลาสติก (สัดส่วนร้อยละ 92.4 ของการส่งออกทั้งหมด) รองเท้าแตะที่ทำจากวัสดุสิ่งทอ (สัดส่วนร้อยละ 6.8 ของการส่งออกทั้งหมด และร้องเท้าแตะที่ทำจากหนัง (สัดส่วนร้อยละ 0.8 ของการส่งออกทั้งหมด)

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

13 เมษายน 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ