กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ?สินค้าเครื่องสำอางไทย? ได้รับความนิยมในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และจีน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศส่งออกเครื่องสำอางอันดับ 2 อาเซียน และอันดับ 10 ของโลก ช่วง 2 เดือนแรกของปี 64 ส่งออกสบู่ ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปาก และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมขยายตัวได้ดี แนะใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีภายใต้เอฟทีเอ เพิ่มโอกาสการส่งออกและขยายตลาดต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทย พบว่า สินค้าเครื่องสำอาง อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งหน้า สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องสำอางอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และเป็นอันดับที่ 10 ของโลก
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยให้เติบโต เพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย โดยปัจจุบัน 14 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยทุกรายการ เหลือเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู ยังคงการเก็บภาษีนำเข้าเครื่องสำอางในบางรายการ อาทิ เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าเอสเซนเชียลออยล์จากโสมแดง 603.4% และสบู่และแชมพู 5% อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารที่มีกลิ่นหอม 5% ชิลี เก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารลดแรงตึงผิว 1.3% และจะลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2566 และเปรู เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งหน้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม น้ำหอมและหัวน้ำหอม 6% นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เกาหลีใต้ จะลดภาษีเพิ่มเติมให้ไทย โดยสบู่เหลวจะทยอยลดภาษีจนเหลือศูนย์ในปีที่ 15 และสบู่ก้อนและแชมพูจะทยอยลดภาษีจนเหลือศูนย์ในปีที่ 20 หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ประเทศคู่เอฟทีเอถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอรวมกันในแต่ละปีมีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางทั้งหมด โดยในช่วงปี 2560-2562 ไทยส่งออกไปยัง 18 ประเทศคู่เอฟทีเอเฉลี่ยรวมปีละ 2,431 ล้านเหรียญสหรัฐ การขยายตัวเฉลี่ย 12% ต่อปี ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน (ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และจีน
สำหรับปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางหดตัวลงเล็กน้อย โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ มูลค่า 2,445 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10% จากปี 2562 ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่เมื่อพิจารณารายสินค้า พบว่า สินค้าหลายรายการยังคงเติบโต โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มดูแลรักษาสุขภาพอนามัย อาทิ สบู่ (+3%) ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปาก (+12%) ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (+3%) และสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง อาทิ สิ่งปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่น (+6%) สารให้กลิ่นหอม (+21%) และเอสเซนเชียลออยล์ (+11%)
?ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องการรักษาผิวพรรณ สุขอนามัย และภาพลักษณ์ ทำให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเครื่องสำอางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสทองของไทยที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเครื่องสำอางไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน มีความแปลกใหม่ และมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เชื่อมั่นว่า ศักยภาพที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย ผนึกกำลังกับข้อได้เปรียบด้านภาษีภายใต้เอฟทีเอจะเพิ่มโอกาสทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเพิ่มขึ้นและขยายตลาดต่างประเทศอีกด้วย? นางอรมน เสริม
20 เมษายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ