?จุรินทร์? หารือเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เตรียมขยายตลาดส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ และกระดาษ ไปมองโกเลีย พร้อมเชิญชวนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการทางการแพทย์ในไทย ตั้งเป้าผลักดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายแตะ 3,000 ล้านบาท ให้ได้ในปี 2566
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับนายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumar Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ มา 47 ปี โดยมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มี GDP ประมาณ 440,000 ล้านบาท ซึ่งไทยยังสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ ขณะเดียวกันมองโกเลียก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้
?จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน และส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทย และดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุน และท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลก และยังสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อน และมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย? นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเรื่องตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และได้เชิญให้ท่านทูตประสานเอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลีย เข้าร่วมชมงาน และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ในงาน THAIFAX ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย เช่น ข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ และกระดาษ เป็นต้น สำหรับประเด็นถัดมา เมื่อสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติ จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะการเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ
ภายหลังการหารือได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน จากมูลค่า 1,140 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566 เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้าภายใต้คณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย โดยกระทรวงพาณิชย์รับจะเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งจะเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน และเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
ปัจจุบัน มองโกเลียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 6 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออก และอันดับที่ 126 ในตลาดโลก มูลค่าการค้าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) เฉลี่ยปีละ 49.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,540 ล้านบาท) โดยในปี 2563 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 36.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,150 ล้านบาท) ลดลง 0.63% จากปี 2562 สำหรับในช่วง 3 เดือน ของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าสองฝ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.21% มูลค่ารวม 13.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (423 ล้านบาท) สินค้าส่งออกศักยภาพของไทย ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมองโกเลีย ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
20 พฤษภาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ