รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 4-5 มิ.ย.นี้ เร่งหารือแนวทางรับมือและฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งเป็นกลุ่มภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 4 - 5 มิถุนายนนี้
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการประชุม ABAC จะหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นข้ามพรมแดน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการรับมือทางเศรษฐกิจต่อวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น ส่วนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค จะหารือในประเด็นการฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 และการสนับสนุนให้ระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นกลไกให้เกิดการค้าเสรีที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Mrs.Ngozi Okonjo-Iweala) ผู้อำนวยการใหญ่ WTO จะเข้าร่วมการประชุมด้วย เพื่อรายงานความคืบหน้าการปฏิรูป WTO และการเตรียมการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นที่นครเจนีวาปลายปีนี้
?นิวซีแลนด์ในฐานะเจ้าภาพการประชุม ได้กำหนดให้เรื่องความร่วมมือ การทำงาน และการเติบโตไปด้วยกัน (Join, Work, Grow Together) เป็นประเด็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการประชุมเอเปคปีนี้ โดยมุ่งหวังให้สมาชิกเอเปคได้ร่วมกันขับเคลื่อน รับมือ และทำงานร่วมกัน เพื่อฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้กลับมาขยายตัว และเติบโตได้อย่างยั่งยืนหลังวิกฤติโควิด-19? นางอรมนเสริม
ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา ชิลี เปรู เม็กซิโก รัสเซีย จีน จีนฮ่องกง จีนไทเป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปาปัวนิวกินี บูรไนฯ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่า 315 ล้านเหรียญสหรัฐ (9.8 ล้านล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 165 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.1 ล้านล้านบาท) และไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.7 ล้านล้านบาท)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
31 พฤษภาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ