?จุรินทร์? ร่วมเวทีประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปคจาก 6 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ชู 6 ประเด็นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการค้า เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าในภูมิภาคและเวทีโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (ABAC) จาก 6 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) และสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council: PECC) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์จากนโยบายการค้า สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรูปแบบการค้าใหม่ยุคโควิด-19
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค โดยการประชุมได้มีการแบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม เพื่อหาข้อสรุปในแต่ละประเด็น ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กลุ่มที่สอง คือการรับมือทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด และกลุ่มที่สาม คือเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด
นายจุรินทร์ เสริมว่า ไทยอยู่ในกลุ่มที่สอง ซึ่งได้ให้ความเห็นไป 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 คือสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ประเด็นที่ 2 ไทยได้ใช้โมเดลการค้ายุคใหม่รับมือกับสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา เช่น ใช้การค้ารูปแบบออนไลน์จับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทยและในภูมิภาค สร้างโอกาสให้ SME และ MSME สามารถส่งออกสินค้าได้ต่อไป ประเด็นที่ 3 ก็คือได้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยสนับสนุนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเปคหลังเกิดวิกฤตโควิด ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น สนับสนุนให้มีการผ่อนคลายการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าไทยจะเริ่มเปิดโมเดลการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตตามแคมเปญภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็น รวมถึงสนับสนุนให้มีการขจัดข้อจำกัดในการส่งสินค้าข้ามแดนในภูมิภาค และได้แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ไทยได้ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับยาและเครื่องมือแพทย์จากประเทศต่างๆ ประเด็นที่ 5 ไทยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ทั่วถึงโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในความร่วมมือระดับภูมิภาค ประเด็นที่ 6 ไทยสนับสนุนและส่งเสริมการค้าที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น กำหนดให้ BCG Model เป็นโมเดลทางเศรษฐกิจสำคัญในการขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด
ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในปี 2563 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่า 9.8 ล้านล้านบาท (15,666 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นการนำเข้าจากกลุ่มเอเปค 4.7 ล้านล้านบาท (150,711 ล้านเหรียญสหรัฐ) และการส่งออกจากไทยไปกลุ่มเอเปค 5.1 ล้านล้านบาท (164,955 ล้านเหรียญสหรัฐ)
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
4 มิถุนายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ