กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ RCEP เพิ่มโอกาสส่งออกตลาดญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเหลือ 0% เพิ่มจาก FTA ที่มีอยู่ถึง 207 รายการ หนุนผู้ประกอบการศึกษากฎถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างละเอียด เพื่อเลือกใช้ความตกลง FTA แต่ละฉบับ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประสบความสำเร็จ และการที่รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น นับเป็นข่าวดีกับประเทศไทย เพราะสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่เดิมกับญี่ปุ่น คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
นางอรมน กล่าวว่า ภายใต้ความตกลง RCEP ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.4 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า JTEPA (ร้อยละ 88.1) และ AJCEP (ร้อยละ 87.1) หากนับเป็นรายสินค้าจะพบว่า ญี่ปุ่นเปิดตลาด (ลดภาษีเหลือร้อยละ 0) ให้ไทยภายใต้ RCEP เพิ่มเติมจาก FTA ทั้ง 2 ฉบับที่มีอยู่เดิมถึง 207 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น สินค้าประมง ผลไม้ (เช่น ส้ม สับปะรด) แป้งจากมันฝรั่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน ผักปรุงแต่ง ผงโกโก้ กาแฟคั่ว ขนมปังกรอบ น้ำส้ม น้ำเกรปฟรุต น้ำผลไม้ผสม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่นั้น ภายใต้ความตกลง AJCEP และ JTEPA ญี่ปุ่นเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยในอัตราร้อยละ 0 อยู่แล้ว ดังนั้นในการเจรจา RCEP ญี่ปุ่นจึงเปิดตลาดให้ไทยเท่ากับที่เคยเปิดให้ในความตกลงทั้งสองฉบับ ผู้ส่งออกไทยจึงสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ใน FTA กรอบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดที่กำหนดในกรอบ FTA นั้นๆ โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยแล้วใน FTA ทั้ง 3 ฉบับ เช่น เครื่องโทรศัพท์ ยานยนต์ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ตู้เย็น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกไทยในการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ที่ไทยมีกับญี่ปุ่น กรมฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่ญี่ปุ่นประกาศเก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยภายใต้ FTA ทั้ง 3 ฉบับ คือ RCEP JTEPA และ AJCEP ในเว็บไซต์ของกรมฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้าได้ที่ http://tax.dtn.go.th นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรศึกษาเงื่อนไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ใน FTA ฉบับต่างๆ ด้วย เพี่อจะได้เลือกวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตสินค้าที่เหมาะสม และไม่เสียโอกาสการได้สิทธิประโยชน์จากแต้มต่อภาษีภายใต้ FTA ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้าเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าได้ที่ http://www.thailandntr.com
ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 20,235.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.8% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 8,351.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.3% สินค้าออกที่สำคัญของไทย เช่น อาหารแปรรูป เครื่องโทรศัพท์ ยานยนต์ไฟฟ้า ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีสารประกอบเป็นโลหะมีค่า วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื้อไก่แช่แข็ง เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
11 มิถุนายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ