?จุรินทร์? พบทูตอียู เร่งผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หวังไทยเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน ต่อจากเวียดนาม และสิงคโปร์ เตรียมนำเรื่อง CL ยา หารือในเวที WTO ปลายปีนี้ ช่วยโลกเข้าถึงวัคซีนโควิดง่ายขึ้นเร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง พร้อมส่งเสริมการค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ได้ร่วมหารือกับนายปีร์กะ ตาปีโอละ (H.E.Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก ไทยและอียูมีความเห็นร่วมกันว่าองค์การการค้าโลก หรือ WTO ควรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี ในเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก โดยการเร่งรัดให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทในช่วงที่มีการอุทธรณ์ให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งการเร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง และเห็นร่วมกันในการส่งเสริมการค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 ไทยและอียูเห็นตรงกันในเรื่องการจัดทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู โดยในเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาล และได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว และประเด็นสำคัญอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการเจรจา และเห็นตรงกันว่าในระดับเจ้าหน้าที่ของไทยและอียูจะเร่งหารือ เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังร่วมกันเพื่อจะใช้เป็นร่างสำหรับนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป โดยอียูคาดหวังว่าไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน ที่จะทำเอฟทีเอกับอียู ต่อจากเวียดนาม และสิงคโปร์ ทั้งนี้ หากมีการจัดทำเอฟทีเอและมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์มากในเรื่องของการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของการค้า เพราะสหภาพยุโรปถือว่ามีการค้ากับไทยในปริมาณที่สูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าของไทยกับโลก
ประเด็นที่ 3 ไทยและอียูเห็นตรงกันว่าการทำ CL วัคซีน จะช่วยให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าว ไปหารือในการประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือน พ.ย.นี้ และประเด็นที่ 4 ได้เชิญภาคเอกชนในสภาพยุโรปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย ช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 โดยจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Online Business Matching : OBM) ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าของกลุ่มประเทศต่างๆ ของสภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลี และสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงสินค้าหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
ทั้งนี้ อียู (27 ประเทศ) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยรองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในปี 2563 33,133.90 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,032.7 พันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.56 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 17,637.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (545.9 พันล้านบาท) และนำเข้าจากอียู 15,496.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (486.8 พันล้านบาท) สำหรับ 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. ? เม.ย.) การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 12,879.86 ล้านเหรียญสหรัฐ (388.3 พันล้านบาท) ขยายตัว 10.95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 77,291.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (218.4 พันล้านบาท) ขยายตัว 17.98% และนำเข้าจากอียูมูลค่า 5,588.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (169.8 พันล้านบาท) ขยายตัว 2.94% สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอียู คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา ไก่แปรรูป และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
14 มิถุนายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ