กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็นการทำ FTA ไทย-ฮ่องกง ยังมีความจำเป็นหรือไม่ หลังไทยมี FTA กับฮ่องกงในกรอบอาเซียน-ฮ่องกงอยู่แล้ว เผยส่วนใหญ่แนะยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หาโอกาสใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่จีน และหนุนมีเวทีหารือด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนสองฝ่าย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง "ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ฮ่องกง" ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่องการจัดทำ FTA ไทย ? ฮ่องกง ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจระหว่างไทย ? ฮ่องกง ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นหากไทยจะจัดทำ FTA ฉบับใหม่กับฮ่องกง ไทยจะได้ประโยชน์หรือมีผลกระทบอะไรเพิ่มเติมจาก FTA อาเซียน ? ฮ่องกง หรือไม่ และหากในอนาคตฮ่องกงเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก RCEP อยู่แล้ว FTA ฉบับใหม่นี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่
นางอรมน กล่าวว่า ผลการสัมมนา พบว่า ด้านการเปิดตลาดสินค้า ไทยจะไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม เนื่องจากฮ่องกงได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าทุกรายการให้ไทยแล้วภายใต้ FTA อาเซียน ? ฮ่องกง แต่ในส่วนของภาคบริการ จะสามารถทำให้ฮ่องกงสนใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในไทย อาทิ สาขาอสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน ประกันภัย และโลจิสติกส์
สำหรับผู้ประกอบการ เห็นว่า ระหว่างนี้ไทยควรเร่งใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อาเซียน - ฮ่องกง ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจากการที่ฮ่องกงและจีนมียุทธศาสตร์ความร่วมมืออ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area ? GAB) ซึ่งจีนกำหนดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไทยควรเร่งยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฮ่องกงให้เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงินและประกันภัย เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ เพื่อใช้ฮ่องกงเป็นประตูการค้าสู่จีน
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีกลไกการหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกง อาทิ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างภาครัฐ และสภาธุรกิจไทย-ฮ่องกงระหว่างภาคเอกชน สำหรับเป็นเวทีหารือส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่ฮ่องกงในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้ อาหารที่ทำจากพืชน สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและการทำงานอยู่บ้าน ตลอดจนสินค้าในภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง สุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์
ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย ในปี 2563 การค้าของไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13,298 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปฮ่องกงมูลค่า 11,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และข้าว สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
17 มิถุนายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ