กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานแนะโอกาสการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการของไทยในเวทีสัมมนา ?เข้าถึง เข้าใจ โอกาสการค้าไทยในปากีสถาน? พร้อมเผยผลการศึกษาการทำ FTA ระหว่างสองฝ่ายจะเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนให้ไทย ช่วยดันเศรษฐกิจไทยโต 0.18-0.32%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เรื่อง ?เข้าถึง เข้าใจ โอกาสการค้าไทยในปากีสถาน? ที่กรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเห็นร่วมกันว่าปากีสถานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยสามารถปักหมุดสานสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากมีประชากรกว่า 220 ล้านคน และมีกำลังซื้อมากถึง 30 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ผู้ที่สนใจตลาดปากีสถานควรเริ่มจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่มีการจัดคณะผู้แทนการค้าไปสำรวจตลาดและพบปะผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่ายสินค้าของปากีสถาน โดยสินค้าของไทยที่น่าจะมีโอกาสในการทำตลาดในปากีสถาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ปากีสถานจะเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และจีน โดยปากีสถานเน้นส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมากกว่า 22 แห่ง กระจายอยู่ทั้งในกรุงอิสลามมาบัด และในอีก 4 แคว้น ได้แก่ ปัญจาบ สินธ์ บาลูจิสถาน และไคเบอร์ปัคตูนควา โดยนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี ได้รับการยกเว้นภาษีสินค้าทุน และได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ถนน ทางยกระดับ และท่าเรือน้ำลึก ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor SEZ: CPEC) ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน
นางอรมน กล่าวว่า ปากีสถานยังได้เปิดเสรีการลงทุนในทุกอุตสาหกรรม อาทิ แปรรูปอาหาร โลจิสติกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ IT การก่อสร้าง การท่องเที่ยวและการโรงแรม ยกเว้นสาขาด้านความมั่นคง อีกทั้ง ปากีสถานยังมีสินค้าที่น่าสนใจ และสามารถใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ อาทิ สิ่งทอ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์กีฬา ผลไม้ (ส้มแมนดาริน ฝรั่ง อินทผาลัม) ซีเมนต์ หินอ่อน หินแกรนิต เกลือหิมาลัย เคมีภัณฑ์ พรมเปอร์เชีย และข้าวบาสมาติ นอกจากนั้น สินค้าฮาลาลที่ผลิตในปากีสถานยังได้รับการยอมรับจากประเทศที่บริโภคสินค้าฮาลาลเป็นหลัก ทำให้สะดวกและช่วยเพิ่มแต้มต่อในการส่งออกไปกลุ่มประเทศเป้าหมายนี้อีกด้วย จึงเป็นโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนในสาขา อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะผลไม้ (มะม่วง พลับ องุ่น ฝรั่ง พีช แพร์) อุตสาหกรรมประมงและโรงงานแปรรูป (หมึกหอม หมึกกระดอง หมึกสาย กุ้ง) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยานยนต์ไฟฟ้า การศึกษา และการรักษาพยาบาล
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาพบว่า การทำ FTA ไทย-ปากีสถานจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 0.18-0.32% คิดเป็นมูลค่า 200?800 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ปากีสถานลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 5 ของตลาดปากีสถาน ปัจจุบันถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 30?100% เคมีภัณฑ์ อัตราภาษีศุลกากร 0-20% เหล็ก อัตราภาษีศุลกากร 3?30% ผักและผลไม้ อัตราภาษีศุลกากร 16?20% พลาสติก อัตราภาษีศุลกากร 0?20% และยางพารา อัตราภาษีศุลกากร 0?30%
?สำหรับความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ปากีสถาน ล่าสุดมีการเจรจาในส่วนของการค้าสินค้าไปแล้ว 9 รอบ สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว 12 จาก 13 ข้อบท เหลือเพียงข้อบทพิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและประเด็นการเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ซึ่งจะต้องเจรจากันต่อเพื่อเร่งหาข้อสรุปต่อไป? นางอรมน เสริม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
16 กรกฎาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ