?จุรินทร์? หารือรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย ขอให้นำเข้าสินค้าสำคัญของไทย ทั้งยางรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารแปรรูป วอนออสเตรเลียสนับสนุนวัคซีน เล็งทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ 7 ด้าน ที่เข้มข้นกว่า FTA ที่สองฝ่ายมีอยู่ หวังยกระดับเศรษฐกิจการค้าการลงทุน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือ กับนายแดน เทฮัน รัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ของออสเตรเลีย ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย และแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นทางการค้าสำคัญ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้า และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ออสเตรเลียได้หารือกับไทยใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ออสเตรเลียสนใจจะจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย คือ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าเรื่องการลดภาษีระหว่างกันเกือบทุกรายการแล้ว โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสำคัญทางการค้าและการลงทุนที่ลงลึกไปกว่า FTA ด้านไทยได้แจ้งว่าไทยสนับสนุน และขณะนี้ไทยได้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงนี้ ใน 7 สาขา ได้แก่ 1) เกษตรแปรรูป โดยเฉพาะด้านอาหาร 2) การท่องเที่ยว 3) บริการสุขภาพ 4) การศึกษา 5) อีคอมเมอร์ซ 6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7) ด้านอื่นๆ เช่น ด้านพลังงาน หรือด้านการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากได้ข้อสรุปจะเชิญไทยเข้าร่วมลงนามเข้าร่วมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2565
ประเด็นที่ 2 ออสเตรเลียเสนอให้ทั้งสองประเทศมีการประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำหรืออย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ประเด็นที่ 3 การเร่งรัดข้อตกลงอาร์เซ็ป โดยมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น ในส่วนของไทยคาดว่าจะยื่นให้สัตยาบันต่อจากจาการ์ตาในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินพฤศจิกายนปีนี้ สำหรับออสเตรเลียจะยื่นได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในต้นปีหน้าตามเป้าหมาย ประเด็นที่ 4 เรื่องขององค์การการค้าโลกในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดหนุนประมง ซึ่งไทยมีจุดยืนในเรื่องการสนับสนุนประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน และไม่สนับสนุนการอุดหนุนประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing)
สำหรับประเด็นที่ 5 ออสเตรเลียได้สอบถามเรื่องการเตรียมการของไทย สำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ โดยไทยได้เตรียม 3 ประเด็นเพื่อผลักดัน ได้แก่ 1) เรื่องการเจรจาหาข้อสรุปการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเอเปค 2) หาข้อสรุปการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ 3) การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศเอเปคภายใต้ทิศทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
และประเด็นที่ 6 ไทยจะเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด และเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการเร่งรัดการส่งออก ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และคาดว่าในปี 2564 การส่งออกของไทยจะสามารถเติบโตได้เกิน 4% มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคาดว่าในปี 2565 การส่งออกจะสามารถขยายตัวได้เป็นตัวเลขสองหลัก
สำหรับข้อเสนอของไทยมี 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้น อาทิ ยางรถยนต์ ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทยที่จะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งไทยเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก อาหารแปรรูป ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ ติด 1 ใน 10 ของโลก และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยที่การส่งออกขยายตัวสูง และออสเตรเลียจะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต และประเด็นที่ 2 ไทยขอให้ออสเตรเลียช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับไทย เนื่องจากออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่และได้สนับสนุนวัคซีนให้กับหลายประเทศ
ทั้งนี้ ไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบปีที่ 69 โดยในปี 2563 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 13,138 ล้านเหรียญสหรัฐ (409,021 ล้านบาท) ซึ่งขณะนั้นมูลค่าการค้าไทย-ออสเตรเลีย -7% แต่ไทยยังได้ดุลการค้ามูลค่า 6,523 ล้านเหรียญสหรัฐ (201,000 ล้านบาท) สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 8,426 ล้านเหรียญสหรัฐ (256,888 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 34.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกมูลค่า 5,598 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้ามูลค่า 2,827 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ และเม็ดพลาสติกสำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ทองคำ อลูมิเนียมและทองแดง ธัญพืช น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
5 สิงหาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ