‘กรมเจรจาฯ’ เสริมแกร่งผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ แนะปรับกลยุทธ์-ขยายเครือข่าย-ใช้นวัตกรรม หนุนเจาะตลาดคู่ค้าด้วย FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 10, 2021 14:48 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ เสริมแกร่งผู้ประกอบการ นักปรับปรุงพันธุ์ และเกษตรกร ในอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ เน้นปรับกลยุทธ์ช่วงโควิด สร้างเครือข่ายผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ใช้นวัตกรรมปรับรูปแบบสินค้าให้โดดเด่นตอบโจทย์ผู้บริโภค แนะใช้ประโยชน์จาก FTA กระจายสินค้าสู่ตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ?โอกาสธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับไทยในตลาดโลก ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี? เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักปรับปรุงพันธุ์ ในอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับของไทยทราบถึงสถานการณ์การค้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลก การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้ และการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย

นางอรมน กล่าวว่า จากการสัมมนาฯ พบว่า สินค้าไม้ดอกไม้ประดับถือเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้มาก และยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการอาจต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การหาตลาดใหม่ สร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ขายและผู้นำเข้าในต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การใช้นวัตกรรมปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้โดดเด่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีอายุยืนยาว ติดตามแนวโน้มของตลาดสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ และวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ด้าน ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ไทยส่งออกกล้วยไม้สัดส่วนถึงร้อยละ 98 ส่วนที่เหลือเป็นไม้ดอกชนิดอื่นๆ เช่น ปทุมมา สับปะรดสี และบัว เป็นต้น ตลาดไม้ดอกไม้ประดับที่น่าสนใจของไทย คือ เนเธอร์แลนด์ ประเทศศูนย์กลางการค้า การผลิตไม้ดอกที่สำคัญของโลก อิตาลี ประเทศที่มีการบริโภค การนำเข้าไม้ดอกมากที่สุดในโลก สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดนำเข้าไม้ดอกฯ ที่สำคัญที่สุดของไทยและโลก ญี่ปุ่น ตลาดนำเข้าไม้ดอกที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออก และเวียดนาม เป็นประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไม้ดอกฯ ที่สำคัญในอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะขยายส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับไปตลาดที่มีศักยภาพ พร้อมใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น

นายป่าน ปานขาว ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ซึ่งดูแลโดย พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืช อนุรักษ์พันธุ์พืชและใช้ประโยชน์ของพันธุ์พืชอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับ 23 ชนิด ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฯ แล้ว เช่น บัวแก้ว ดาวเรือง ลั่นทม กล้วยไม้สกุลแวนด้า เป็นต้น

ด้านนายภูเบศร์ เจษฎ์เมธี รองประธานสภาดอกไม้โลก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนางสาวพรรณวิภา ศุภธนพัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อารดาดีไซส์ จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับทั้งในและต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศทุกภูมิภาค เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ อาทิ แถบตะวันออกกลางนิยมไม้ใบจากไทย เพื่อใช้สำหรับตกแต่งเพิ่มความสดชื่นให้พื้นที่แห้งแล้ง ญี่ปุ่นนำเข้าไม้ดอกขนาดเล็กจากไทยจำนวนมาก เพื่อใช้ประดับตกแต่งในช่วงโอลิมปิก และมาเลเซียนิยมไม้ดอกที่มีอายุการใช้งานนาน และให้ความสำคัญกับสีของดอกไม้ เนื่องจากมีชาวต่างชาติอาศัยจำนวนมากและมีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งมาเลเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนเพื่อกระจายสินค้าไม้ดอกไม้ประดับไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและมาเลเซีย โดยไทยส่งออกไปตลาดโลกมูลค่า 132.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ และต้นกล้วยไม้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

10 สิงหาคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ