เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนเดินหน้ากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรสำคัญในกรอบอาเซียนบวกสามและกรอบอาเซียนบวกแปด เห็นพ้องแผนงานเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตั้งเป้ารับรองแผนงานในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในเดือนกันยายนนี้ พร้อมเร่งเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เน้นการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างกัน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ครั้งที่ 38 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) หรือ East Asia Summit (EAS) ครั้งที่ 10 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสาม และ EAS ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 38 ได้หารือถึงการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2564 ? 2565 ที่มีการจัดทำทุก 2 ปี ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 11 หัวข้อ อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน - จีน อาเซียน - ญี่ปุ่น อาเซียน ? เกาหลีใต้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การอำนวยความสะดวกทางการค้าต่อภาคเอกชน และติดตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ที่ประชุมตั้งเป้าที่จะรับรองแผนงานดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในช่วงเดือนกันยายนนี้
นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด ครั้งที่ 10 ได้หารือถึงแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 พร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างกันได้อย่างสะดวก การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบใหม่ (new normal) ได้แก่ การเร่งการเข้าสู่โลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทกับชีวิตของประชากรและภาคธุรกิจมากขึ้น การส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการกระจายฐานการผลิตในภูมิภาค และการสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และพลังงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขและสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EAS ภายหลังวิกฤตโควิด-19
ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มีมูลค่า 9.77 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกจากไทย มูลค่า 5.08 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้า มูลค่า 4.68 ล้านล้านบาท และในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 คิดเป็น 5.74 ล้านล้านบาท ขยายตัว 17.97 % จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 2.91 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้า มูลค่า 2.82 ล้านล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
23 สิงหาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ