กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดเสวนา ?จับตาการปฏิรูป WTO ยุค New Normal? ถกบทบาทและทิศทาง WTO รับมือกระแสการค้ายุคใหม่ ด้าน ดร.ศุภชัย ชี้! WTO ต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหามากขึ้น ทั้งวิกฤติโควิดและเศรษฐกิจโลก ส่วนการประชุม MC12 ปลายปีนี้ เน้นเพิ่มบทบาทการค้าและสุขภาพ คาดจะผลักดันให้ได้ข้อสรุปเรื่องการอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำแผนงานปฏิรูป WTO และการรับมือโควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดงานเสวนาออนไลน์ ?จับตาการปฏิรูป WTO ยุค New Normal? เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าขณะนี้สมาชิก WTO กำลังหารืออย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมหาข้อสรุปสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะเรื่องการอุดหนุนประมง การค้าสินค้าเกษตร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การปฏิรูป WTO การปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท WTO และการมีส่วนร่วมของ WTO ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการใหญ่องค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ?บทบาทของ WTO รับมือกระแสการค้ายุคใหม่? โดยระบุว่าอยากเห็น WTO ปรับปรุงการทำงานและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจโลก ภูมิรัฐศาสตร์ และเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติมากขึ้น ซึ่ง WTO จำเป็นต้องทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ สหประชาชาติ และอังค์ถัด เพื่อแก้ไขปัญหาและให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศสมาชิก WTO โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการนำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่โลกรับได้
อย่างไรก็ดี แม้ WTO จะทำงานโดยยึดการขับเคลื่อนโดยสมาชิกเป็นหลัก (member driven) แต่ยังสามารถปรับปรุงบทบาทและการทำงานของฝ่ายเลขานุการ WTO ในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น การจัดทำรายงานการค้าโลก (World Trade Report) เพื่อให้ความเห็นที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงวิชาการ รวมถึงเพิ่มความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจา การแก้ปัญหาความชะงักงันของกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะกลไกนี้ถือเป็นกระดูกสันหลังของ WTO โดยอาจศึกษาผลการตัดสินคดีพิพาทของ WTO ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นบทเรียนและให้เกิดความเข้าใจในประสิทธิภาพการทำงานของคณะผู้พิจารณาตัดสินคดีพิพาทมากขึ้น และควรเปิดช่องให้ผลการตัดสินคดีพิพาทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
สำหรับการเจรจา WTO ในอดีต ที่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากการเจรจามีทั้งได้และเสีย ไม่ได้มีประเทศใดประเทศหนึ่งได้อย่างเดียว หรือเสียอย่างเดียว แต่ในส่วนของการปฏิรูป WTO ที่ผ่านมา ทำได้ลำบาก หากจะปฏิรูป WTO ก็ควรผลักดันให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้ และเพิ่มบทบาทของ WTO ในเรื่องการค้าและการพัฒนามากขึ้น ดังนั้น การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ควรเน้นประโยชน์ด้านสังคมด้วย ทั้งเรื่องการค้าและสุขภาพ การกระจายวัคซีนโควิด-19 การส่งผ่านเทคโนโลยี การกำหนดกฎระเบียบสินค้าเกษตร การเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการผลักดันให้การเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการสำรองสินค้าเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร สามารถหาข้อสรุปได้
ด้านนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของสมาชิก WTO สำหรับการประชุม MC12 ว่า ผู้อำนวยการใหญ่
WTO (นางเอ็นโกซี) ได้ให้ความสาคัญกับการเพิ่มบทบาทของ WTO ในเรื่องการค้าและสุขภาพ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้มีข้อเสนอของหลายประเทศที่มุ่งลดอุปสรรคการเคลื่อนย้าย และอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าจำเป็นในการรับมือโควิด-19 อาทิ วัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการลดภาษี ลดเลิกมาตรการจำกัดการส่งออก ความโปร่งใส และการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกยังได้หารือถึงบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาในการรับมือกับโควิด-19 ด้วย อาทิ การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory licensing) ตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ของสหภาพยุโรป การยกเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติบางประการภายใต้ความตกลงทริปส์ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของอินเดียและแอฟริกาใต้ และการเข้าถึงเทคโนโลยี ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุม MC 12 สมาชิกจะผลักดันให้ได้ข้อสรุปเรื่องการรับมือโควิด-19 การจัดทำกฏเกณฑ์เรื่องการอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการจัดทำแผนงานเพื่อปฏิรูป WTO ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ได้นำเสนอมุมมองของไทยต่อการเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ซึ่งประเทศสมาชิกมุ่งมั่นที่จะสรุปผลการเจรจาร่วมกันให้ได้ภายในการประชุมครั้งนี้ โดยสนับสนุนกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อการอุดหนุนประมงที่นำไปสู่การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งไทยได้มีแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของไทย เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว
ด้านนางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงความท้าทายต่อภาคเกษตรไทย อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสาคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยของอาหารมากขึ้น แต่ไทยยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตค่อนข้างน้อย รวมถึงมาตรการและนโยบายทางการค้าที่เข้มข้นของประเทศคู่ค้า โดยได้นำเสนอมุมมองต่อแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรไทย เช่น การส่งเสริมการวิจัย เทคโนโลยีด้านการเกษตรและนวัตกรรม การมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เกษตร (อาทิ การวิจัยสารสกัดที่เป็นอาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง) การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (อาทิ ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์) หรือการวิจัยและพัฒนาอาหารทางเลือกที่ให้คุณค่าโภชนาการสูง (อาทิ แมลงเศรษฐกิจ ให้ไทยเป็น Hub ของแมลงโลก) ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงช่องทางออนไลน์ในการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งไทยได้จับมือกับ Platform ออนไลน์ อาทิ อาลีบาบา เพื่อให้มีสินค้าเกษตรจำหน่ายบน Platform ดังกล่าว เป็นต้น
รศ.ดร.จุฑาทิตย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ให้ข้อมูลว่าการค้าโลกมีแนวโน้มไปสู่รูปแบบการค้าทวิภาคีและภูมิภาคนิยมครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมีการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเพื่อปกป้องทางการค้ามากขึ้น ขณะที่ภาษีสินค้าบางรายการ อาทิ วัตถุดิบสาหรับการผลิต วัคซีน ยังคงสูงอยู่ และเห็นว่าไทยอาจสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อปรับประสานกฎระเบียบทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกการเข้าถึงวัคซีนและสินค้าสำคัญทางการแพทย์ ที่จำเป็นในการรับมือกับโรคโควิด-19 ตลอดจนสนับสนุนการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานภายใต้ WTO ให้สามารถกลับมาทำงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อาทิ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดระยะเวลาดำเนินกลไกระงับข้อพิพาท
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่าประเทศสมาชิก WTO มีการใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีมากขึ้น ทั้งในแง่มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า โดยมาตรการที่มีการใช้มากที่สุด ได้แก่ มาตรการอุปสรรคทางเทคนิค รองลงมาคือมาตรการเกี่ยวกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ตลอดจนมีแนวโน้มการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า อาทิ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการปกป้องการนำเข้า และเห็นว่า WTO ควรมีมาตรการเพื่อเร่งรัดและขยายการเข้าถึงสินค้าจำเป็น อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญทางการแพทย์และวัตถุดิบที่จำเป็น ขณะเดียวกัน WTO ควรส่งเสริมมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การผ่อนปรนกระบวนการนำเข้า และผ่อนคลายข้อจำกัดการนำเข้าหรือส่งออก
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า WTO จะต้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคงค้าง อาทิ ปัญหากลไกระงับข้อพิพาททางการค้า และการขาดแคลนอาหาร รวมทั้งต้องปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ อาทิ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยจากโควิด-19 การขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์การค้ากับดิจิทัล และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อให้การทำงานของ WTO เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
24 สิงหาคม 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ