รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเดินหน้าหารืออย่างเข้มข้ น เตรียมเดินหน้าดันอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เห็นชอบเพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็นห้ามจำกัดส่งออก 107 รายการ ครอบคลุมอาหาร-เกษตร เร่งสมาชิกบังคับใช้ RCEP พร้อมไฟเขียวเอกสารสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในอาเซียน ผสานความร่วมมือภาคเอกชนรับมือโควิด-19
ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค ติดตามและเร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตาม AEC Blueprint 2025 โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้า การลงทุน และการลดอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนการหารือกับภาคเอกชนถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19
ดร. สรรเสริญ กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดถึงแม้โลกและภูมิภาคจะประสบกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การประชุม AEM ครั้งนี้ ได้หารืออย่างเข้มข้นเกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเห็นว่า ความร่วมมือของอาเซียนในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อาเซียนฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกัน จำนวน 107 รายการ ครอบคลุมสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวทางสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งไทยเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และใช้ประโยชน์จากระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมทางการค้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและดึงดูดบริษัทสายเรือเข้ามาในภูมิภาค และอาจช่วยให้ค่าระวางเรือในภูมิภาคกลับมาอยู่ในระดับปกติได้เร็วขึ้น
ดร. สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของความตกลง RCEP ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูการค้าและการลงทุนของภูมิภาค โดยเดินหน้าเร่งกระบวนการภายในเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับในต้นเดือนมกราคม 2565 นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญ อาทิ กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) เป็นแผนดำเนินการในระยะสั้นและระยะกลางให้อาเซียนเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในส่วนของแผนงานในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน จะช่วยสนับสนุนการพัฒนา e-commerce ในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และเป็นช่องทางสำคัญให้ SMEs ได้เข้าถึงลูกค้าได้ และเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) ซึ่งจะเป็นแนวทางการปรับปรุงมาตรการ NTMs ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการค้า ลดต้นทุนและภาระในการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอาเซียน หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในปี 2564 โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อม การเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชน เพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับไทยได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนใน 3 ระยะ ได้แก่ ?Responsiveness? การตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกและรักษาความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน ?Recovery? การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง รักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้า การลงทุน ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ และเพิ่มความตกลงกับประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะความตกลง RCEP และ ?Resilience? การยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 63,750.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16.50% โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 36,880.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 26,869.55 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกและนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
10 กันยายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ