?จุรินทร์? หารือทางไกลกับคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ยกระดับความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ชี้ เป็นตลาดใหม่มีศักยภาพ พร้อมชวนทำ FTA ร่วมกันในอนาคต ด้านยูเรเซียเล็งใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) ครั้งที่ 2 ร่วมกับรัฐมนตรีด้านการบูรณาการและเศรษฐกิจมหภาคของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (นาย Sergey GLAZIEV) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เพื่อหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) มุ่งยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่าง ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยไทยเน้นย้ำประเด็นหารือที่สำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การมุ่งเน้นการกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ อีคอมเมิร์ซ ประเด็นที่ 2 ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรโดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งยูเรเซียมีความเชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว รวมถึงต้องการให้เกิดการร่วมมือด้านกฎระเบียบทางการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายด้วย ประเด็นที่ 3 ไทยต้องการให้ 2 ฝ่าย มีความร่วมมือด้านยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากสหภาพยูเรเซียเป็นตลาดยางพาราที่มีขนาดใหญ่และมีการเจริญเติบโตสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และประเด็นที่ 4 ไทยแสดงความสนใจจะทำเอฟทีเอกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยมอบหมายให้คณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 2 ฝ่าย เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านยูเรเซีย มีประเด็นสำคัญที่ขอให้ไทยพิจารณา 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ยูเรเซียให้ความสนใจกับประเทศไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากไทยมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศอาเซียน และต้องการให้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียนเพื่อสร้างความร่วมมือ ตลอดจนขยายการค้าการลงทุนกับอาเซียนต่อไป ประเด็นที่ 2 ยูเรเซียให้ความเห็นว่าการค้าระหว่างไทยกับยูเรเซียมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากมูลค่าการค้าในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นที่ 3 ยูเรเซียให้ความสำคัญกับ 3 สาขาหลัก คือ 1) สาขาไอที (Information Technology: IT) 2) การวิจัยพัฒนา (Research ? Development: R&D) และ 3) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดย 2 ฝ่าย อาจมีการยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต และประเด็นที่ 4 เชิญชวนนักธุรกิจไทยร่วมกิจกรรมทางธุรกิจกับยูเรเซียเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ กล่าวเสริม
นายจุรินทร์ เพิ่มเติมว่า จะมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานกับภาคเอกชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีการประชุมสำคัญที่ยูเรเซียจะจัดขึ้นเพื่อหาช่องทางใหม่ในการขยายการค้าการลงทุนร่วมกัน ทั้งนี้ นโยบายสำคัญประการหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ คือ การมุ่งเจาะตลาดใหม่เพื่อขยายตัวเลขการค้าและการส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น โดยยูเรเซียนับเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูง จึงได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายการค้าการลงทุนต่อไปได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ยูเรเซียประกอบด้วยห้าประเทศ ได้แก่ 1) รัสเชีย 2) คาซัคสถาน 3) คีร์กีซสถาน 4) เบลารุส และ5) อาร์เมเนีย มีประชากรรวมกัน 180 ล้านคน ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-ยูเรเซีย มีมูลค่ารวม 2,140.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 66,000 ล้านบาท) ขยายตัว 29.45% โดยไทยส่งออกไปยูเรเซีย 664.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30.26% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา (+101.05%) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+50.69%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+31.08%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+49.82%) เม็ดพลาสติก (+90.63%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+33.53%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+82.91%) เป็นต้น และนำเข้าสินค้าจากยูเรเซีย 1,476.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 46,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 29.09% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมัน (+10.54%) ปุ๋ย (+ 23.43%) เหล็ก (+38.08%) สินแร่โลหะอื่นๆ (+98.64%) เป็นต้น โดยประเทศในยูเรเซียที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด คือ รัสเซีย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
27 กันยายน 2564
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ