‘จุรินทร์’ ถกอุปทูตสหรัฐฯ หนุน BCG โมเดล พร้อมดันไทยออกจากบัญชี WL เผยส่งออกไปสหรัฐฯ 10 เดือนแรกโต 20.05%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2021 10:23 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?จุรินทร์? หารือรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมสนับสนุน BCG โมเดลของไทย ด้านไทยขอให้ประสาน USTR ปลดไทยออกจากบัญชี WL แจ้งข่าวดีเกษตรกรส้มโอไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แล้ว เตรียมใช้เวที TIFFA ส่งเสริมมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ เผยตัวเลขส่งออก 10 เดือน เพิ่มขึ้น 20.05% ไทยได้ดุลการค้าถึง 43.36%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อุปทูตสหรัฐฯ รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ณ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทย และกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถดูแลห่วงโซ่การผลิต และเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ว่าสามารถดำเนินการไปได้อย่างดี และมีความต่อเนื่อง แม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด โดยพร้อมสนับสนุน BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy Model) ของไทย โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565 พร้อมขอบคุณไทยที่ช่วยสนับสนุนพัฒนาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ โดยเฉพาะบทบาทของไทยในการให้ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย โดยสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ส้มโอจากไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยแจ้งว่าในอนาคตมีหลายยี่ห้อที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทฟอร์ดได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว มูลค่า 950 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท)

ในส่วนของไทยได้แจ้งสหรัฐฯ 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ไทยให้ความสำคัญกับการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสาน โดยเฉพาะการใช้ BCG Model ในการขับเคลื่อน โดยไทยจะชู BCG Model ในการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปีหน้า ประเด็นที่ 2 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยแจ้งว่าได้จับมือกับสำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative: USTR) ขับเคลื่อนแผนดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันเป็นระยะเวลายาวนานและมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการปกป้องและการบังคับใช้กฎหมายในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐฯ ได้ปลดประเทศไทยจากบัญชีที่อาจจะต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นจับตามอง (WL) และขอให้ท่านทูตประสานไปยัง USTR ให้ปลดไทยจากบัญชี WL ต่อไป ซึ่งจะมีการพิจารณาเร็วๆนี้ และประเด็นที่ 3 ไทยและสหรัฐฯ เห็นว่าสองฝ่ายสามารถหารือเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนในเชิงลึกระหว่างกันได้ ผ่านเวที TIFFA ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้แจ้งว่าอยากเห็นสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมในปีหน้า เพื่อส่งเสริมมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ เฉลี่ยปีละประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 64) ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 34,137 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.066 ล้านล้านบาท) ส่งออกเพิ่มขึ้น 20.05% โดยไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 22,270 ล้านเหรียญสหรัฐ (691,247 ล้านบาท) ได้ดุลเพิ่มขึ้น 43.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

15 ธันวาคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ