?สินิตย์? ชี้ช่องทางใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP เริ่มบังคับใช้ 1 มกราคมที่ผ่านมา ย้ำไทยจะได้ประโยชน์เพียบ ทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต มีวัตถุดิบที่หลากหลาย เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้า-บริการ เกษตรกรไทยมีโอกาสขายสินค้าเกษตรเพิ่ม พร้อมโอกาสทองจากกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เพิ่มทางเลือกวัตถุดิบจากประเทศสมาชิก RCEP มั่นใจ! ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก RCEP ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโอกาสส่งออกสินค้าและบริการ เกษตรกรไทยมีโอกาสขายสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลาย และส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาค
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากความตกลง RCEP นอกเหนือจากที่สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางการส่งออกให้กับสินค้าไทย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจาก ?กฎถิ่นกำเนิดสินค้า? ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยนำมาผลิตและสามารถส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ อาทิ ผู้ผลิตน้ำผลไม้จากไทย สามารถซื้อวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดจากสมาชิก RCEP เข้ามาผลิตและสามารถจำหน่ายในตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าเหมือนการใช้วัตถุดิบในประเทศ นอกจากนี้ วัตถุดิบหลายชนิดของไทยจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น อาทิ แป้งมันสำปะหลังนำไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ยางพาราผลิตด้ายยางวัลแคไนซ์ และผลไม้เป็นวัตถุดิบนำไปแปรรูป
รมช.พาณิชย์ เพิ่มเติมว่า ความตกลง RCEP ถือเป็น FTA ฉบับแรกของอาเซียน ที่มีการจัดทำกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules หรือ PSRs) กับทุกรายการสินค้า เพื่อสะท้อนกระบวนการผลิตที่แท้จริง และสามารถได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษีศุลกากร โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ RCEP อาทิ อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากแหล่งนอกภูมิภาค ก็จะสามารถผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ก่อนหน้า อาทิ ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดวัตถุดิบให้มาจากประเทศภาคีด้วยกันเท่านั้น
?ขอให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือผู้สนใจทำการค้าในตลาด RCEP เร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ทำความเข้าใจกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศสมาชิก และศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาด RCEP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ? รมช.พาณิชย์ เสริม
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
14 มกราคม 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ