‘พาณิชย์’ วางมาตรการเฝ้าระวัง รับมือสินค้านำเข้าผิดปกติ ภายใต้ RCEP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2022 14:09 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้าภายใต้ RCEP ชี้! ผู้ประกอบการไทยไร้กังวล ยันเตรียมพร้อมรับมือหากมีสินค้าทะลักเข้าประเทศผิดปกติ เผยมีมาตรการรับมือทั้งการใช้เซฟการ์ด เอดี และยังมีกองทุน FTA ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และสมาชิกนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ สำหรับเกาหลีใต้ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งสมาชิกอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และมาเลเซีย จะมีผลใช้บังคับความตกลงฯ เร็วๆ นี้

นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ได้วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการรับมือสินค้านำเข้าที่ผิดปกติ ทั้งการใช้มาตรการปกป้องทางการค้า (Safeguards) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) การหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศได้ทันท่วงที การจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA และ RCEP เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีความกังวลว่าสินค้านำเข้าจะไหลทะลักเข้าประเทศ จนก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการและ SMEs ควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจความตกลง RCEP เพื่อเร่งใช้โอกาสขยายการส่งออกสินค้าไปตลาด RCEP ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการที่ประเทศสมาชิก RCEP ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยในทันที รวม 29,891 รายการ และจะขยายเพิ่มเป็น 39,366 รายการ ภายใน 20 ปี โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ อาทิ ผลไม้สด (มังคุด และทุเรียน) ผักผลไม้แปรรูป น้ำสับปะรด สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์จากยาง และพลาสติกที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ สินค้าประมง น้ำผลไม้ กาแฟคั่วที่ส่งออกไปญี่ปุ่น และสินค้าเกษตร อาทิ พริกไทย สับปะรดปรุงแต่ง และน้ำมะพร้าวที่ส่งออกไปจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของไทยต้องลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีสินค้าที่ยกเลิกภาษีทันที 6,340 รายการ และจะขยายเป็น 8,724 รายการ ภายใน 20 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้าที่ไทยได้เปิดตลาดให้กับสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายการสินค้าส่วนใหญ่ที่ยกเลิกภาษี เป็นสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบหรือที่ต้องการใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อาทิ สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าประมง สินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องเพชรพลอยเทียม หินที่ใช้ในการก่อสร้าง ท่อนเหล็ก และท่อนทองแดง

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดความตกลง RCEP และสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงฯ ได้ที่ www.dtn.go.th และ http://tax.dtn.go.th/ หรือ RCEP Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ Call Center โทร. 0 2507 7555

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

14 มกราคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ