กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยศาลชั้นต้นของ WTO ตัดสินคดี กรณีอินเดียอุดหนุนผู้ผลิตอ้อยและส่งออกน้ำตาล ย้ำต้องยกเลิกมาตรการเพราะขัดความตกลง WTO ด้านอินเดียสู้ต่อยื่นอุทธรณ์ แต่กระบวนการพิจารณาหยุดชะงัก เหตุสมาชิกองค์กรอุทธรณ์หมดวาระ ชี้! หากสุดท้ายยึดตามศาลชั้นต้น ผู้ส่งออกไทยได้เฮ! การค้าน้ำตาลในตลาดโลกจะเป็นธรรมมากขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้พิจารณาคดี (Panel) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้แจ้งผลการตัดสินคดีที่บราซิล ออสเตรเลีย และกัวเตมาลา ยื่นฟ้องอินเดีย ในกรณีที่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำของอ้อยและรัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตอ้อยในบางรัฐ เพื่อช่วยเหลือการผลิตน้ำตาลและการเก็บน้ำตาลคงคลังสำรอง อีกทั้งรัฐบาลยังได้จ่ายเงินให้กับผู้ส่งออกน้ำตาล ซึ่งมาตรการของอินเดียขัดกับความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และอินเดียในฐานะสมาชิก WTO จะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ไทยในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล จึงได้เข้าร่วมเป็นประเทศที่สาม (third party) ในกรณีพิพาทครั้งนี้ ถึงแม้ไทยจะไม่ใช่ผู้ร่วมฟ้องคดี แต่การเข้าร่วมเป็นประเทศฝ่ายที่สาม ทำให้ไทยได้รับข้อมูลการโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย และได้ร่วมแสดงความเห็นเพื่อให้คณะผู้พิจารณาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาคดี ทั้งนี้ จากการติดตามสถิติการส่งออกน้ำตาลของอินเดียไปตลาดโลก พบว่า มีการส่งออกสูงขึ้นหลังจากอินเดียเริ่มใช้มาตรการในปี 2557 จากปริมาณ 2,396,356 ตัน เป็นปริมาณ 8,075,190 ตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 65% ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา อินเดียก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลก
นางอรมน เสริมว่า ผลการพิจารณาของศาลชั้นต้น WTO ยังไม่ถือเป็นที่สุด เนื่องจากอินเดียได้ยื่นอุทธรณ์ จึงต้องรอติดตามผลการพิจารณาขององค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ก่อน ซึ่งปกติจะใช้เวลาพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 90 วัน แต่เนื่องจากขณะนี้สมาชิกขององค์กรอุทธรณ์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 คน ได้หมดวาระลง และยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีอุทธรณ์หยุดชะงักลง ทั้งนี้ หากกระบวนการตั้งองค์กรอุทธรณ์สามารถดำเนินการได้ และองค์กรอุทธรณ์พิจารณายืนตามคำตัดสินของคณะผู้พิจารณา อินเดียจะต้องปรับระบบน้ำตาลให้สอดคล้องกับความตกลง WTO ซึ่งจะส่งผลให้ต้องยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกน้ำตาล และมาตรการอุดหนุนต่างๆ ที่น่าจะช่วยให้การค้าน้ำตาลในตลาดโลกเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรวมทั้งไทย
ทั้งนี้ ในปี 2557 ก่อนการใช้มาตรการของอินเดีย มีประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ อาทิ บราซิล ส่งออก 24.13 ล้านตัน มูลค่า 9,458 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 6.29 ล้านตัน มูลค่า 2,710 ล้านเหรียญสหรัฐ ฝรั่งเศสส่งออก 1.99 ล้านตัน มูลค่า 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออก 2.40 ล้านตัน มูลค่า 1,095 ล้านเหรียญสหรัฐ และเม็กซิโกส่งออก 1.97 ล้านตัน มูลค่า 962 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในปี 2564 ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ ได้แก่ บราซิลส่งออก 27.25 ล้านตัน มูลค่า 9,186 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออก 9.18 ล้านตัน มูลค่า 3,829 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 3.56 ล้านตัน มูลค่า 1,509 ล้านเหรียญสหรัฐ เม็กซิโกส่งออก 1.72 ล้านตัน มูลค่า 946 ล้านเหรียญสหรัฐ และฝรั่งเศสส่งออก 1.69 ล้านตัน มูลค่า 843 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
24 กุมภาพันธ์ 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ