กุ้งไทยเฮ สหรัฐฯแพ้ซีบอนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 14, 2008 14:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กุ้งไทยเฮ WTO ตัดสินให้ไทยชนะคดีฟ้องสหรัฐฯ เรียกเก็บ C-bond  รวมทั้งใช้ระบบ Zeroing คำนวณเก็บภาษีเอดีแบบไม่เป็นธรรม ทำให้กุ้งไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง จนกระทบการส่งออก  คาดว่าสหรัฐฯจะอุทธรณ์ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประกาศคำตัดสินอย่างเป็นทางการให้ไทยชนะคดีสหรัฐฯ กรณีที่ไทยฟ้องร้องสหรัฐฯ เรียกเก็บพันธบัตรค้ำประกันการนำเข้า (Continuous bond หรือ C-bond) และกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ Zeroing ในการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด เพราะทั้งสองกรณีขัดกับความตกลง และกฎเกณฑ์ของ WTO และสร้างความไม่เป็นธรรมทางการค้าต่อไทย
“เมื่อ WTO ตัดสินแล้วสหรัฐฯจะต้องทบทวนมาตรการ C-bond และยกเลิกการใช้วิธี Zeroing ในการคำนวณ AD และจะมีผลให้อัตราภาษีเอดีที่ไทยต้องเสียลดลง แต่คาดว่าสหรัฐฯ จะอุทธรณ์ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนกว่าคดีจะสิ้นสุดในราวเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องถือว่าการระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทยในการใช้เป็นเกราะกำบังไม่ให้ประเทศใหญ่ๆ เอาเปรียบทางการค้า และทำให้การค้าดำเนินอย่างเป็นธรรม” นางสาวชุติมา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 WTO ได้ตั้งคณะผู้พิจารณาเพื่อตัดสิน และพิจารณาข้อร้องเรียนของไทย โดยมีอินเดีย เม็กซิโก บราซิล จีน ชิลี สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและเวียดนาม เข้าร่วมในฐานะเป็นฝ่ายที่ 3 โดยไทยต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเรียกเก็บ C-bond เพราะผิดกฎ WTO และสร้างความไม่เป็นธรรมกับไทย ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องวางพันธบัตรค้ำประกันการนำเข้าสูงถึงปีละ 1,370 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังฟ้องร้องสหรัฐฯ ให้ยกเลิกใช้ Zeroing ในการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด เพราะทำให้กุ้งไทยต้องเสียภาษีเอดีสูงเกินจริง และ WTO ก็เคยตัดสินในคดีอื่นๆ มาก่อนว่า มาตรการดังกล่าวขัดกับความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดของ WTO
สำหรับการดำเนินการของสหรัฐฯ ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยเดือนร้อนอย่างมาก ผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งกว่าครึ่งหยุดการส่งออก เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมกุ้งมีการจ้างงานแรงงานกว่า 1 ล้านคน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ