กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ รับกระแสนิยมอาหารแห่งอนาคต ?future food? นำทัพกูรูภาครัฐและเอกชน แนะสร้างจุดเด่นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เน้นใช้วัตถุดิบพื้นบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า หนุนใช้ FTA สร้างแต้มต่อทางการค้า ขยายส่งออกตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง ?อาหารแห่งอนาคตตอบโจทย์คนรุ่นใหม่? เพื่อให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยรับกระแสความนิยมอาหารแห่งอนาคต หรือ ?future food? ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ และเป็นสินค้าที่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบ และมาตรฐานความปลอดภัย
นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและตลาดโลก รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบพื้นบ้าน ทั้งนี้ สินค้าอาหารแห่งอนาคต จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยผู้ประกอบการควรปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายส่งออกและสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยสามารถส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต อาทิ สินค้าแมลงที่บริโภคได้ ซึ่ง 18 ประเทศคู่ FTA ของไทย ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว และโปรตีนจากพืช ซึ่ง 16 ประเทศคู่ FTA ของไทย ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า อาหารแห่งอนาคตแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ อาหารฟังก์ชันที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารใหม่ อาทิ โปรตีนทางเลือกจากโปรตีนจากพืชและแมลง อาหารทางการแพทย์ และอาหารออร์แกนิก ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารไทยควรพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก
ในส่วนของนางสาวพิจิกา โรจน์ศตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนเซพท เคส จำกัด ให้ข้อมูลว่า ผู้ผลิตอาหารไทยควรให้ความสำคัญกับกระแสของการบริโภคในปัจจุบันที่สนับสนุนสินค้าเพื่อความยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และวัตถุดิบต้องไม่เหลือทิ้ง ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2565 มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและตามกระแส จึงทำให้วัตถุดิบอาหารพื้นบ้านไทย อาทิ ขนุน กระเจี๊ยบแดง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเมนูที่มีเอกลักษณ์ได้
สำหรับนายสมชนะ กังวารจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Prompt Design ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะเป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคมองเห็น ดังนั้น ควรเน้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ ทั้งรูปทรง วัสดุ สีและภาพ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ของอาหารแห่งอนาคต ควรมีความแตกต่างจากสินค้าอาหารเดิม รวมทั้งควรลดการใช้พลาสติกหรือกระดาษ สามารถออกแบบให้นำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ มีการเลือกใช้วัสดุชนิดเดียวเพื่อง่ายต่อการรีไซเคิล และใช้วัสดุทดแทนพลาสติก อาทิ bioplasticslbiodegradable หรือวัสดุธรรมชาติ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ FTAlและlRCEPlได้ที่เว็บไซต์ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ FTAlCenterlชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center 0 2507 7555 อีเมล์ ftacenter@dtn.go.th
26 เมษายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ