กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ เตรียมพร้อมผู้ประกอบการก้าวสู่การค้ายุคใหม่ของอาเซียน ผนึกกำลังกูรูชี้แนวทางปรับตัวเรียนรู้พัฒนาการของอาเซียน แนะสร้างจุดเด่นของสินค้า เน้นความปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสส่งออก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ?พลิกโฉมอาเซียนสู่การค้าแห่งอนาคต: กรอบการเจรจายุคใหม่? เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า กรมฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรองรับรูปแบบการค้ายุคใหม่ การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของอาเซียน และโอกาสแข่งขันทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเรียนรู้พัฒนาการที่เกิดขึ้นในอาเซียน ทั้งเรื่องกฎระเบียบทางการค้า การเจรจา FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจาใหม่ๆ และการใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่ค้า
ด้านนายธงชัย แสงศิริ ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ให้ข้อมูลว่า โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย คือ การเงินดิจิทัล (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎหมาย ระเบียบ และการบริหารจัดการรองรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเตรียมพร้อมและปรับตัวของผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ดร. จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า อาเซียนได้มีข้อริเริ่มต่างๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบ และการพัฒนาและปรับปรุงความตกลงต่างๆ ทั้งนี้ อาเซียนยังมีอุปสรรคต่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลก อาทิ การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการขนส่งทางทะเล ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะจีนที่มีอิทธิพลกับเรื่องการคมนาคมและขนส่งในอนาคต
นางสาวลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสริมว่า ความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การหดตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และการเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง SMEs ไทยควรเตรียมความพร้อมรองรับรูปแบบการค้ายุคใหม่ สร้างความแตกต่างและความน่าเชื่อถือของสินค้าและบริการ สร้างนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัล รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม
ส่วนนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch ได้เสนอประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการเจรจา FTA ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภค ควรเร่งพิจารณาจัดทำมาตรฐานให้สอดคล้องกันในภูมิภาค การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อาเซียนควรคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในวงกว้าง อาทิ มลพิษจากหมอกควัน การลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามแดน และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการจัดการการค้าขยะข้ามพรมแดน ได้เสนอให้ทบทวนและแก้ไขรายการสินค้า ?วัสดุหรือสิ่งของใช้แล้ว? หรือ ?เศษวัสดุจากกระบวนการผลิต? โดยให้ความสำคัญอย่างเข้มงวดในการแก้ไขนโยบาย/กฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าขยะ
นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ให้ข้อมูลว่า ควรให้ความสำคัญกับการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดอาเซียน เพราะจะเป็นโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลกได้ โดย SMEs ไทยควรเพิ่มเรื่องความปลอดภัยของสินค้า และปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ส่วนภาครัฐควรให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ อาทิ การฝึกอบรม การสอนงาน แนะแนวทางการผลิตที่เพิ่มมูลค่า รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
29 เมษายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ