‘กรมเจรจาฯ’ เร่งเสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย เตรียมพร้อมรองรับ FTA อาเซียน-แคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2022 14:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ ?เปิดมุมมอง FTA อาเซียน-แคนาดา? นำทัพกูรูภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความคืบหน้าการเจรจา เปิดมุมมองโอกาสและความท้าทายในการทำการค้ากับแคนาดา ชี้! ผู้ประกอบการไทยควรเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพสินค้า-บริการ สร้างแรงงานฝีมือให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และเตรียมใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-แคนาดา สร้างแต่มต่อทางการแข่งขันในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ?เปิดมุมมอง FTA อาเซียน-แคนาดา? โดยได้เชิญวิทยากรที่มากประสบการณ์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และข้อแนะนำเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในการทำการค้ากับแคนาดา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทางออนไลน์กว่า 400 คน ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

?การจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา จะช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ากับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนและแต้มต่อทางการแข่งขัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างแรงงานฝีมือให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-แคนาดา ให้ได้มากที่สุด? นางอรมนเสริม

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาครั้งนี้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า FTA อาเซียน-แคนาดา จะเริ่มเจรจารอบแรกในเดือนสิงหาคมนี้ และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเจรจาของกรมฯ ที่จะขับเคลื่อนการเจรจาเชิงรุกและแสวงหาตลาดใหม่ๆ แคนาดาถือเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ดังนั้น ไทยต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ยกระดับกฎระเบียบ พัฒนาทักษะความรู้ ฝีมือแรงงาน จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-แคนาดา ได้อย่างเต็มที่

สำหรับนางสาววิวรรณ ศรีรับสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจแคนาดามีขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวในระยะยาว มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทรัพยากรมหาศาล มีนโยบายเปิดรับชาวต่างชาติ และพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงมีโอกาสขยายการค้าและบริการ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร พ่อครัวแม่ครัวไทย ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ข้าวหอมมะลิ และผลไม้ วัตถุดิบและเครื่องปรุง ในส่วนของภาครัฐ ได้ร่วมกับสถาบันสอนทำอาหาร Le Cordon Bleu ของแคนาดา ช่วยโปรโมทเมนูอาหารไทย ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญ คือ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ภาวะเงินเฟ้อ คู่แข่งทางการค้า กฎระเบียบที่เคร่งครัด และไทยยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากแคนาดา ทำให้สินค้าบางตัวยังคงมีภาษีสูง ดังนั้น การมี FTA อาเซียน-แคนาดา จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี

นางชญาดา สิรินุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ เสนอแนะว่า ธุรกิจบริการที่น่าจับตามองและมีโอกาสเติบโตสูงในนครแวนคูเวอร์ คือ อุตสาหกรรมวิดีโอเกม จึงเป็นโอกาสของนักพัฒนาเกมไทยที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตลาดแคนาดา และธุรกิจสปา ซึ่งได้รับความนิยมทั้งคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งการบำบัดรักษาของไทยค่อนข้างมีชื่อเสียงที่ดี ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความแตกต่าง ใช้สินค้าคุณภาพได้มาตรฐาน นำนวัตกรรมมาประกอบธุรกิจ และมีการประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนนายเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตลาดเกมของแคนาดามีศักยภาพและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาเกมแบบรับจ้าง (work for hire) การนำเกมสู่ตลาดสากล (game translation) การออกแบบภาพสองมิติและสามมิติ (2D and 3D motion) การพัฒนาเกมทั้งระบบ (Full End-to-End Development) โดยเฉพาะการทำเกม porting จากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง โดยการเข้าสู่ตลาดแคนาดาจะต้องมีความสร้างสรรค์ รู้จักวัฒนธรรม รักษามาตรฐาน และควรสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับบริษัทแคนาดาผ่านกิจกรรมงานเกมต่างๆ

ด้านนางนงลักษณ์ เรกรูล่า (เชฟนุ้ย) เจ้าของร้านอาหาร Pai (ปาย) ณ นครโทรอนโต ให้ข้อมูลว่า ชาวแคนาดาชื่นชอบอาหารไทย ซึ่งร้านอาหารไทยที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาหารไทยมียอดขายทางเดลิเวอรี่เป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะผัดไท นอกจากธุรกิจอาหารไทยที่เติบโตแล้วยังเป็นโอกาสให้กับสินค้าวัตถุดิบและเครื่องปรุงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับทักษะภาษาอังกฤษ และควรระบุส่วนประกอบบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้อาหารไทย ทั้งนี้ ภาครัฐควรช่วยส่งเสริมอาหารไทยโดยการประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ในแคนาดาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นางสาววิภาวลี วัจนาภิญโญ ประธานกรรมการ บริษัทสยามเฟรช เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เสนอแนะว่า สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดแคนาดา อาทิ ข้าว และทุเรียน ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการเก็บรักษา การทำบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการขนส่ง และนำนวัตกรรมมาใช้กับสินค้า อาทิ การใช้เทคโนโลยี freeze dry กับผักและผลไม้ และการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะสินค้าอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก plant based ที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดแคนาดา

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

15 กรกฎาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ