‘สินิตย์’ โชว์! ตัวเลขการค้า RCEP ครึ่งปีแรก มูลค่า 169 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่า 13% พร้อมหนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2022 14:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?สินิตย์? โชว์! ตัวเลขการค้า RCEP ครึ่งปีแรก มูลค่ากว่า 169 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่า 13% ตลาดอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดี สินค้าเกษตรแปรรูปโตแรง เผยการขอใช้สิทธิ์ RCEP มูลค่ากว่า 204.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง พร้อมหนุนใช้ประโยชน์จาก RCEP เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากแหล่งนำเข้าที่หลากหลาย

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถิติการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับรายงานว่า นับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. ? มิ.ย. 2565) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

?การขยายตัวของมูลค่าการค้า RCEP ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศสมาชิก RCEP ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตขึ้น ทำให้สินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่จะใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าส่งออก ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก RCEP จะช่วยเพิ่มช่องทางการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากแหล่งนำเข้าที่หลากหลายด้วยเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นขึ้น? นายสินิตย์กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปที่ส่งออกไปตลาด RCEP มีการขยายตัวได้ดี อาทิ น้ำตาลทราย (+145%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+19%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+10%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+9%) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+4%) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+14%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+24%) ข้าว (+12%) และไก่แปรรูป (+4%) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (+19%) เม็ดพลาสติก (+12%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3%)

นอกจากนี้ การนำเข้าจากกลุ่มสมาชิก RCEP มีมูลค่า 90,869 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจาก RCEP ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าทุน อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+9%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+1%) และกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป อาทิ เคมีภัณฑ์ (+14%) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+12%) และแผงวงจรไฟฟ้า (+35%)

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ในช่วงเดือน ม.ค. ? เม.ย. 2565 มีมูลค่า 204.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2,296%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการมีผลบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ มากที่สุด และสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ทุเรียนสด และรถจักรยานยนต์ สำหรับการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ RCEP มีมูลค่า 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1,887%) และรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด อาทิ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ไม้อัด เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ลูกสูบ)

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ความตกลง RCEP ได้ทางเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://tax.dtn.go.th และข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้า FTA ฉบับต่างๆ ได้ที่ http://www.thailandntr.com

3 สิงหาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ