‘กรมเจรจาฯ’ เดินหน้าระดมความเห็นร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA ทุกภาคส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2022 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA จากทุกภาคส่วน 11 ส.ค.นี้ ชี้! กองทุนจะเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิตและภาคบริการ และปรับตัวใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า พร้อมเชิญชวนร่วมแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th และ www.law.go.th ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ? 30 ก.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง ?การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ...? ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ผู้ประกอบการ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. นอกจากนี้ ยังได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาพันธ์ SME ไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และหน่วยงานศึกษาวิจัยภายนอก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอีกด้วย

นางอรมน กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA สืบเนื่องจาก ครม. ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุน FTA ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้วย

นางอรมน เพิ่มเติมว่า กองทุน FTA ที่จัดตั้งขึ้น จะมีรายละเอียดเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด อาทิ ค่าใช้จ่ายในการศึกษา วิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายการจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนา ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่มีผลโดยรวมต่อการสนับสนุนการบริโภค การตลาด และการส่งออก ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนา และศึกษาดูงาน และเงินหมุนเวียน อาทิ ค่าก่อสร้างโรงงาน โรงเรือน ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการผลิตและการตลาด โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติโครงการขอความช่วยเหลือ หลังจากที่ พ.ร.บ. กองทุน FTA มีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ กรมยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ผ่านเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล www.law.go.th ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม ? 30 กันยายนนี้ จึงขอเชิญชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป

5 สิงหาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ