กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยกทัพกูรูทุกภาคส่วนร่วมวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA เน้นช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ชี้! ควรบริหารด้วยความยืดหยุ่น ไม่ซับซ้อน เข้าถึงง่าย มีเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน พร้อมรวบรวมทุกความเห็นและปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ก่อนเสนอ ครม. และรัฐสภาต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ ?ร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ...? หรือ พ.ร.บ.กองทุน FTA เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยกรมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาพันธ์ SME ไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และภาควิชาการ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA นางอรมน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA มีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งกองทุน FTA ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ให้สามารถปรับตัวรับมือจากการเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกร และผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ให้สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก FTA ได้
โดยการสัมมนารับฟังความเห็นในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมให้ความเห็น และยังถือเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมฯ จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ไปประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ก่อนที่นำร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป
นางอรมน เพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ที่น่าสนใจ อาทิ ผู้แทนจากสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เห็นว่า กองทุน FTA เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญมาก แต่นอกจากการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว กองทุนฯ ยังควรเน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาศักยภาพ นวัตกรรม และยกระดับการแข่งขันของผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ด้วย ผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ เห็นด้วยและยินดีกับการจัดตั้งกองทุน FTA พร้อมเสนอว่าการบริหารจัดการกองทุนฯ ควรมีความยืดหยุ่น ไม่ซับซ้อน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย และ SME สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย ผู้แทนสมาพันธ์ SME ไทย เห็นด้วยกับการมีกองทุน FTA และเสนอว่าในการทำงานร่วมกับหน่วยงานข้อกลาง กองทุนฯ อาจต้องมีกลไกสร้างแรงจูงใจที่จะดึงดูดให้หน่วยงานข้อกลางมาร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้แทนจาก FTA Watch เห็นว่า ภาครัฐและเอกชนไม่ควรนำเรื่องการจัดตั้งกองทุน FTA เป็นข้ออ้างในการไปเจรจา FTA ในอนาคต พร้อมทั้งเสนอว่าแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ ควรมาจากภาษีลาภลอย (Windfall Tax) หรือกำไรที่ได้จากการเปิดเสรีทางการค้าของผู้ประกอบการ อีกทั้ง องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะอนุกรรมการควรมีตัวแทนของภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบด้วย และผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า เนื้อหาในร่าง พรบ. กองทุน FTA ฉบับนี้ จะเป็นการกำหนดหลักการและขอบเขตในการให้ความช่วยเหลือ ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือจะให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านเว็บไซต์กรมฯ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล www.law.go.th ระหว่างวันที่ 11 ส.ค. ? 30 ก.ย. นี้
19 สิงหาคม 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ