กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ อัพเดตแนวนโยบายและร่างกฎระเบียบใหม่ของอียู ที่เน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น ชี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมปรับตัวรองรับทิศทางการค้ากับอียูและตลาดโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ (webinar) เรื่อง ?ก้าวทันนโยบายและมาตรการการค้าใหม่ของสหภาพยุโรป? เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป (อียู) ให้สามารถปรับตัวรองรับนโยบายและกฎระเบียบใหม่ๆ ของอียู ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน โดยเชิญผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งเชิญผู้แทนภาคเอกชนของไทยและสมาคมการค้าของอียูในไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
ภายในงานสัมมนา นาย Petros Sourmelis อัครราชทูตที่ปรึกษา แผนกเศรษฐกิจและการค้า และนาย Laurent Lourdais ที่ปรึกษาด้านการเกษตร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และสิ่งแวดล้อม สำนักงานผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเรื่องนโยบายและร่างกฎระเบียบใหม่ๆ ภายใต้นโยบายกรีนดีล ที่กำหนดเป้าหมายให้อียูมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของอียูหลายฉบับ เช่น (1) ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ในการพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด ไปจนถึงการบริโภค ให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี พ.ศ. 2573 (2) มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องสำแดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณดังกล่าว โดยจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม (3) ร่างกฎหมายกำกับการดูแลกิจการอย่างยั่งยืน (Corporate Sustainability Due Diligence) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการทั้งในอียูและต่างประเทศทำการตรวจสอบและรับรองว่าห่วงโซ่อุปทานของตนไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หรือสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (4) ร่างระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดการทำลายป่า (Deforestation) ที่ให้มีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสำหรับบางกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตัดไม้ทำลายป่า ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ และกาแฟ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสินค้าข้างต้น เพื่อสกัดกั้นการจำหน่ายหรือนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการทำลายป่าเข้าสู่ตลาดยุโรป และ (5) ร่างกฎหมายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Eco Design) ที่กำหนดรายละเอียดการออกแบบของแต่ละกลุ่มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มมาตรการป้องกันและหยุดการทำลายสินค้าที่ไม่ได้จำหน่าย เป็นต้น ทั้งนี้ กฎระเบียบข้างต้นยังอยู่ระหว่างการหารือรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากรัฐสภายุโรปและประเทศสมาชิกอียู ซึ่งอาจมีการปรับแก้ไขได้
?ปัจจุบันหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับตัวและรับมือกับกฎระเบียบดังกล่าว ให้สามารถทำการค้าและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ขณะที่ผู้แทนภาคเอกชนไทยเห็นว่ากฎระเบียบของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอียู จะช่วยยกระดับมาตรฐานและระบบการบริหารจัดการสินค้าภายในประเทศของไทยอีกด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว อย่างไรก็ดี ตนมองว่าภาคเอกชนไทยควรเร่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับกฎระเบียบใหม่ๆ เหล่านี้ ซึ่งหากทำได้ จะช่วยให้ไทยขยายการส่งออกไปตลาดคู่ค้าอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจรับชมงานสัมมนาฯ ย้อนหลังสามารถเข้าไปรับชมและร่วมแสดงความเห็นได้ที่เพจ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ? นางอรมน กล่าว
20 กันยายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ