กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา หนุนใช้ FTA ดันลิ้นจี่ GI พะเยาส่งออกจีนและอาเซียน เผย ล่าสุดฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ เตรียมเปิดประตูสู่กลุ่มประเทศ GCC เชื่อ ช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดส่งออกลิ้นจี่ศักยภาพไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่พร้อมจัดสัมมนาเรื่อง ?สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรไทย สู่ตลาดการค้าเอฟทีเอ? ภายใต้โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ FTA Center ระดับจังหวัด ณ จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 12 ? 14 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโอกาสและช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งพบหารือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย ผู้ปลูกลิ้นจี่แม่ใจ ที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำการเกษตรโดยเน้นแนวทางเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน
นางอรมน กล่าวว่า ลิ้นจี่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพะเยา โดยเฉพาะ ?ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา? ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอแม่ใจนั้น เป็นลิ้นจี่เกรดพรีเมี่ยมที่ขายได้ราคาสูง มีจุดเด่นที่ความหอมอร่อย รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อแห้งกรอบ สีสวย รวมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในจีนและอาเซียน นอกจากนี้การรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็งและเน้นแนวทางเกษตรปลอดภัย การสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการแปรรูป และการใช้เอฟทีเอเป็นแต้มต่อ จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายการส่งออกให้ลิ้นจี่ศักยภาพของไทยสามารถทำตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ประเทศคู่เอฟทีเอที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าลิ้นจี่จากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน (ยกเว้น สปป. ลาว ที่ยังคงภาษี 5 % สำหรับลิ้นจี่อบแห้ง) จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และชิลี ขณะที่ เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ได้ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลิ้นจี่บางส่วน นอกจากนี้ ตลาด GCC ซึ่งประกอบด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตของสินค้าลิ้นจี่ไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยล่าสุดไทยได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มประเทศ GCC อีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้สู่ตลาดโลกมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10 % นางอรมน กล่าวเสริม
นางอรมน เพิ่มเติมว่า กรมยังได้พบหารือกับกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งกล้วยและกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง ผู้ผลิตผ้าขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา ซึ่งกรมได้ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การขยายช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มมูลค่าผ่านการสร้างเรื่องราว และการเน้นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยยกระดับสินค้าและเพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย
27 กันยายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ