กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนไทยร่วมการประชุมอาเซียน+8 เผย ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค หนุนสร้างความยืดหยุ่นในระบบเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ย้ำ สมาชิกพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือ เสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้น นำภูมิภาคสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก หรืออาเซียน+8 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค และการสร้างความยืดหยุ่นในระบบเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ หรือสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง
นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมสนับสนุนบทบาทสำคัญในความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก พร้อมสนับสนุนแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ACRF) และการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันบนกฎเกณฑ์ที่มีความครอบคลุม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ภายใต้แนวทางของ WTO ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมกว่าร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ภาคเอกชนของสมาชิก รวมถึงไทยได้รับประโยชน์จากความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ประเทศสมาชิกเห็นพ้องถึงความเร่งด่วนในการร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และพร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี ค.ศ. 2023-2030 นอกจากนี้ สมาชิกยังเห็นพ้องให้เร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างทางดิจิทัลในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และสตาร์ทอัพ โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้เสนอแผนพัฒนาที่ครอบคลุมของภูมิภาคเอเชีย ฉบับที่ 3 (Comprehensive Asia Development Plan 3.0 : CADP) ที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามประเด็นดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. ? มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มีมูลค่า 147,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 70,781 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 76,828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ
29 กันยายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ