วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18.30 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลภายหลังการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น นายนิชิมูระ ยาสุโทชิ ที่ห้อง 108 ชั้น 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยก่อนหน้านายจุรินทร์เพิ่งเดินทางไปงานประกวดข้าวโลกที่จังหวัดภูเก็ตและลงเครื่องเดินทางมาที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ทันที เพื่อเข้าร่วมการประชุมทวิภาคีกับประเทศญี่ปุ่นก่อนการเลี้ยงอาหารค่ำรัฐมนตรีเอเปคในคืนนี้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อสักครู่ตนได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับท่านรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ MITI ประเด็นที่ญี่ปุ่นหยิบยกขึ้นมามี 3 ประเด็น ประเด็นแรกเป็นโครงการญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อฉลองความสัมพันธ์นี้ครบรอบ 50 ปีระหว่างญี่ปุ่นกับอาซียน มีนโยบายที่เรียกว่า Co-create Vision จับมือกับอาเซียนสร้างเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.การสร้างเครือข่าย 100 เครือข่ายระหว่างเอกชนญี่ปุ่นกับเอกชนของอาเซียนจับคู่กัน เช่น ร่วมลงทุนซื้อขายสินค้าบริการด้วยกันหรือจับคู่ทางธุรกิจอื่นเป็นต้น 2.การจับคู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน การทำงานด้านการผลิตสินค้าและบริการร่วมกัน โดยใช้ซัพพลายเชน วัตถุดิบ การแปรรูประหว่างกันทั้งญี่ปุ่นทั้งอาเซียนให้ได้ 100 เคส และ 3.โครงการการร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 100 เคส เช่น BCG หรือ Green Economy ซึ่งตนตอบรับด้วยความยินดี โดยทางญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบว่าเตรียมงบประมาณ 8,000 ล้านเยนหรือประมาณ 2,100 ล้านบาท
ประเด็นที่สอง ญี่ปุ่นหยิบยกกรณี RCEP ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 15 ประเทศ จับมือสร้างความเข้มแข็งให้กับ RCEP ซึ่งตอนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตนมีส่วนสำคัญในการเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP จนนำไปสู่ข้อสรุป นำไปสู่การให้สัตยาบันแล้ว เริ่มต้นได้ในวันนี้ พร้อมตอบรับญี่ปุ่นในการขับเคลื่อน RCEP ให้มีความเข้มแข็งต่อไป เพราะถือว่าเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ประเด็นที่สาม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกหรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework)ปัจจุบันสมาชิกมี 14 ประเทศ ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนให้มีการเดินหน้าต่อไป ซึ่งตนตอบรับเพราะร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ตอนประกาศจัดตั้งที่โตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้
และตนได้หยิบยกมาหารือ 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า JTEPA ที่ญี่ปุ่นให้โควตาส่งออกกล้วยของไทยไปญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน ที่ผ่านมา เราใช้ประโยชน์ได้แค่ 3,000 ตัน ยังขาดอยู่อีก 5,000 ตัน ที่ยังใช้โควตานี้ไม่หมดเพราะเกิดปัญหาอุปสรรคของภาคการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดค่อนข้างซับซ้อน ขอความร่วมมือจากท่านรัฐมนตรีฯให้กระทรวง MITI ช่วยบริหารจัดการให้ JETRO เข้ามามีบทบาทให้ข้อมูลให้ความรู้ทั้งกฎเกณฑ์กติกาวิชาการและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้เกษตรกรของไทยด้วย
กระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ให้เกษตรกรได้ใช้โควตาให้ครบอีก 5,000 ตันต่อไป สร้างรายได้ให้ประเทศและรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยต่อไป
ประเด็นที่สอง ตนขอให้คณะท่านรัฐมนตรีรับ ประเทศไทยประกอบการพิจารณาสนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัด Specialized Expo 2028 ด้วย ซึ่งท่านรัฐมนตรีรับไปประกอบการพิจารณาต่อไป? รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวระบุว่า สำหรับงาน Specialized Expo 2028 ประเทศไทยในฐานะสมาชิก BIE (Bureau International des Expositions หรือองค์การนิทรรศการนานาชาติ)ได้ยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีหัวใจสำคัญของการจัดงานคือ การใช้พื้นที่พัฒนาสู่ศูนย์กลางด้านสุขภาพครบวงจร เพื่อนำเสนอภูเก็ตในฐานะจุดหมายปลายทางสุขภาพชั้นนำของโลก และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งจะจัดให้มีการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2566
ซึ่งหลังการแถลงกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพในการเลี้ยงอาหารค่ำให้กับรัฐมนตรีเอเปคในคืนนี้ต่อไป ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.)สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่นประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และการค้าระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่ารวม 1,552,567.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.13 โดยเป็นการส่งออก 642,091.39 ล้านบาท (+10.71%)
16 พฤศจิกายน 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ