เขตการค้าเสรี BIMSTEC คืบหน้า สมาชิกตกลงกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและกฎเฉพาะสินค้าได้แล้ว หลังการเจรจายืดเยื้อมานาน ไทยได้ทีเตรียมเสนอสินค้าอัญมณี เหล็กและโทรทัศน์สี เป็นรายการสำคัญในการเจาะตลาด
นายอดิสัย ธรรมคุปต์ นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกลุ่ม BIMSTEC เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ BIMSTEC ได้มีการเจรจากันอีกครั้งโดยสามารถตกลงกันในการผลักดันการเปิดเสรีมีความคืบหน้ามากขึ้น เบื้องต้นได้ตกลงที่จะใช้กฎทั่วไป (General Rule) ของเกณฑ์พิจารณาการได้แหล่งกำเนิดสินค้า โดยใช้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลักควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศ (Local Content) ร้อยละ 35 แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) สามารถใช้ Local Content ที่ร้อยละ 30 เพื่อเป็นแต้มต่อให้แก่ประเทศที่พัฒนาน้อยอีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังได้ตกลงให้มีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้าขึ้น (Product Specific Rules : PSRs) โดยแต่ละประเทศจะคัดเลือกสินค้าส่งออกสำคัญของตนเองที่มีศักยภาพในการส่งออก แต่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ General Rule ได้และกำหนดเกณฑ์เฉพาะสำหรับสินค้านั้นๆ ขึ้นมา ซึ่งไทยได้เสนอรายการสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกพวกอัญมณี เหล็ก โทรทัศน์สี เป็นต้น โดยจะมีการเจรจาหารือในรายละเอียดต่อไป
“การเจรจาในครั้งนี้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพราะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ของแหล่งกำเนิดสินค้า และมีการทำกฎเฉพาะสำหรับสินค้าที่ไม่เข้าเกณฑ์ออกมาได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถตกลงได้ ส่วนการเปิดตลาดค้าบริการ และการลงทุน อยู่ระหว่างการจัดทำร่างความตกลง” นายอดิสัยกล่าว
สำหรับการเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC ได้มีการลงนามกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกรอบการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยแบ่งการลดภาษีออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่ม Fast Track 2. กลุ่ม Normal Track และ 3. กลุ่มที่ยังไม่นำมาลดภาษี หรือ เรียกสินค้าในกลุ่มนี้ว่า Negative List
โดยการเจรจาในช่วงที่ผ่านมา ได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี เนื่องจากสมาชิกซึ่งประกอบด้วย บังคลาเทศ ภูฎาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย ไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลดภาษีได้ โดยในช่วงแรกประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ให้คงรายการสินค้า Negative List กว่าร้อยละ 25 ของจำนวนรายการตามพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก ซึ่งส่งผลให้การเปิดตลาดมีน้อยมาก และไทยเห็นว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำเขตการค้าเสรีที่มุ่งผลให้มีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปิดตลาด เนื่องจากเป็นการกำหนดเกณฑ์ของสินค้าที่จะสามารถได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการเปิดเสรีขณะที่การเจรจาเรื่องอื่นๆ ทั้งการค้าบริการ และการลงทุนก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเพิ่งจะมีการเริ่มเจรจาเพื่อจัดทำร่างความตกลงในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเฉลี่ยปีละ 25.7% ในปี 2550 การค้าระหว่างไทยกับ BIMSTEC มีมูลค่า 8,891.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 20.8%
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-